นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า วุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐฯ ร่วมกันเสนอพระราชบัญญัติ The Textile Enforcement and Security Act of 2010 หรือ HR. 5393 ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ House Ways & Means, Subcommittee เพื่อแก้ปัญหาความเสียหายที่เกิดจากการค้าสิ่งทอที่ผิดกฎหมาย
โดยพ.ร.บ.ดังกล่าว ครอบคลุมสินค้าสิ่งทอและเครื่องแต่งกายรวม 27 รายการ ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง รองเท้า หมวก ผ้าทอ ร่ม ฯลฯ พ.ร.บ. ดังกล่าวประกอบด้วยบทบัญญัติที่สำคัญคือ (1) การจัดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามและตรวจสอบสินค้าสิ่งทอและเครื่องแต่งกายที่นำเข้า (2) อนุญาตให้หน่วยงาน Department of Homeland Security นำเงินค่าปรับไปใช้เพื่อสืบสวนหรือสอบสวนผู้กระทำผิด หรือนำไปฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้อง (3) เพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำ ณ ท่าหรือด่านที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง (4) จัดตั้ง Non-resident Importer Program เพื่อเป็นหลักประกันว่า Resident Agent (บุคคลที่มีภูมิลำเนาในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศให้เป็นผู้ดำเนินการแทน) จะรับผิดชอบต่อสินค้าที่นำเข้าในนามของตน
นางสาววิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่าหาก พ.ร.บ. The Textile Enforcement and Security Act of 2010 หรือ HR. 5393 มีผลใช้บังคับ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของหน่วยงาน U.S. Customs and Border Protection ในการจับกุมสินค้าสิ่งทอที่ผิดกฎหมาย และหากตรวจพบการปลอมแปลงและลักลอบ Resident Agent อาจผลักภาระค่าปรับบางส่วนหรือทั้งหมดให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานร่วมรับผิดชอบด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2551-2552 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ มูลค่าเฉลี่ย 60,694 ล้านบาท และในปี 2553 (มค.-เมย.) ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 14,576 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 12 ผู้ประกอบการจึงควรติดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด