ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่าจะกำหนดนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยโดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ควบคู่กับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สินยุโรปที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก
นายคิม ชอง ซู ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้กล่าวว่า การใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายต่อไปอาจจุดชนวนให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะสินทรัพย์ฟองสบู่ แต่ในขณะเดียวกัน วิกฤตการเงินของยุโรปอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ธนาคารจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยทั้งสองด้านอย่างรอบคอบ
ถ้อยแถลงของนายคิมที่มีขึ้นในระหว่างการเตรียมเข้าประชุมกับนักเศรษฐศาสตร์และผู้นำธุรกิจในกรุงโซลวันนี้เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ตอกย้ำท่าทีของรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านนโยบายเศรษฐกิจ หลังจากที่เคยกล่าวในปีนี้ว่ายังเป็นการเร็วเกินไปที่ธนาคารกลางจะปรับขึ้นดอกเบี้ย
ขณะเดียวกันองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) เปิดเผยว่า ความเสี่ยงด้านภาวะเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ธนาคารเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะยังคงขยายตัวได้ในระดับ 5.8% ในปีนี้และ 4.7% ในปีหน้าเนื่องจากการส่งออกขยายตัว และอุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่ง โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเกาหลีใต้ ขยายตัวขึ้นที่ 2.1% จากไตรมาสก่อนหน้านี้ ขณะที่รัฐบาลเตรียมปรับตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 5% ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นทำให้นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้อาจขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 1 ปีทะยานขึ้น 0.17% นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 2.94% เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ด้านรัฐมนตรีคลังกล่าวแสดงความกังวลในทำนองเดียวกันว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่า 5% ในปีนี้ โดยในเดือนพ.ค. ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2.7% ซึ่งขยับขึ้นมาจากระดับ 2.6% ในเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากต้นทุนอาหารและน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางตั้งเป้าควบคุมเงินเฟ้อให้เคลื่อนไหวที่อัตราเฉลี่ย 2-4% ไปจนถึงปี 2555