คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งและบริการของประเทศ(กบส.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดตั้งระบบศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเอกสารอิเลคทรอนิกส์(Nationai Single Window:NSW) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ให้เร็วกว่าแผนงานที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ 5 ปี
"นายกฯ ได้ขอให้กลับไปปรับแผน เพราะ 5 ปีนานเกินไป โดยอาจจะปรับลดว่าช่วงปีแรกมีหน่วยงานไหนที่สามารถปรับใช้ได้เลย และให้ดูในปีถัดๆ ไปที่จะเปิดใช้เต็มรูปแบบ" นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้จัดลำดับความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของไทยปีนี้อยู่ในลำดับที่ 35 ลดลงจากลำดับที่ 31 ในปี 50 ซึ่งในระดับภูมิภาคนี้ยังเป็นรองสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และมาเลเซีย นอกจากนี้ในปี 51 ไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.6 ต่อจีดีพี ลดลงจาก 18.8 ต่อจีดีพีในปี 50 และหากมีการพัฒนาระบบ NSW จะช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการได้ราว 82,000-100,000 บาท/ปี
โดยนายกรัฐมนตรีขอให้มีการปรับแผนงานการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน 6 เดือน ระยะกลาง 2 ปี และระยะยาว 5 ปี ส่วนเรื่องงบประมาณนั้นมอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปดูแลจัดสรรต่อไป
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ส่วนปัญหาที่กรมศุลกากรรายงานว่าความล่าช้าในการพัฒนาเรื่องนี้เนื่องจากมีกฎหมายเกี่ยวข้องมากถึง 60 ฉบับนั้น ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดรับกันนั้น แต่ที่ประชุมฯ เห็นว่าน่าจะเป็นการออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 60 ฉบับ
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือทวายนั้น ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันดูแล โดยกระทรวงคมนาคมจะไปดูแลเรื่องระบบการขนส่งทางท่อ การสร้างถนน และรถไฟรางคู่ที่เชื่อมระหว่าง จ.กาญจนบุรี จนถึงเมืองทวาย ประเทศพม่า ส่วนกระทรวงการต่างประเทศจะไปดูแลเรื่องการประสานความร่วมมือกับประเทศพม่า
ส่วนการพัฒนาท่าเรือปากบารา จ.สตูล นั้น ที่ประชุมฯ เห็นว่า ควรพัฒนาเป็นท่าเรือขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เพื่อขนส่งสินค้าเกษตรหรือการท่องเที่ยวมากกว่า เพราะไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 3 ชุด เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนในประเด็นการพัฒนาที่สำคัญและคาบเกี่ยวกับภารกิจของหลายหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกรรมการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการสำหรับการนำเข้า การส่งออก และโลจิสติกส์ มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน
"นายกฯ กำชับให้แต่ละหน่วยงานกลับไปทำแผนในแต่ละส่วนให้มีความชัดเจนแล้วเสนอกลับมาให้ที่ประชุมฯ พิจารณาครั้งหน้า" นายพุทธิพงษ์ กล่าว