พาณิชย์เตรียมพิจารณาปรับลดราคาขายปลีกน้ำตาลทราย-สั่งตรึงราคาไข่ไก่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 21, 2010 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เตรียมตั้งคณะทำงานพิจารณาปรับลดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศ หลังสามารถใช้หนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทได้หมดภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยจะทำงานคู่ขนานไปกับคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

"การปรับลด อาจไม่ใช่ 5 บาทเต็ม เพราะต้องพิจารณาส่วนอื่นประกอบ เช่น กำไรของยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ที่ร้องขอมานานให้เพิ่มกำไรบ้าง โดยกระทรวงพาณิชย์จะตั้งคณะทำงานควบคู่ไปด้วย เพื่อพิจารณาราคาน้ำตาลที่ปรับลดควรเป็นเท่าไหร่กับสถานการณ์เป็นจริง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" นางวัชรี กล่าว

ที่ผ่านมามีมติ ครม.สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ให้นำส่วนต่างจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท นำไปใช้หนี้กองทุนฯ ซึ่งในแต่ละปีจะมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ ประมาณ 10,000 ล้านบาท และขณะนี้ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 2 ปีเศษแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนหลายพื้นที่ว่ายังประสบปัญหาน้ำตาลทรายราคาแพงและขาดตลาด โดยบางพื้นที่ขายกันถึงกิโลกรัมละ 26-28 บาท มากกว่าเพดานที่กำหนดราคาปลีกที่ 23.50 บาท รวมทั้งปัญหาการกระจายน้ำตาลจากโรงงานถึงผู้บริโภคทำให้หลายพื้นที่หาซื้อยาก จึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ดูแลการผลิตน้ำตาลเข้ามาร่วมแก้ไข

อธิบดีกรมการค้าภายใน ยังกล่าวถึงการหารือกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว และบริษัทผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ เช่น ซีพี, เบทาโกร เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่แพงว่า ที่ประชุมฯ เห็นตรงกันให้ตรึงราคาไข่ไก่คละ หน้าฟาร์มไว้ที่ฟองละ 2.80 บาท โดยค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายไข่ไก่ไปยังตลาดสดทั่วไป ช่วงการขายส่งต้นทุนจะอยู่ที่ฟองละ 0.20 บาท ขายปลีกฟองละ 0.30 บาท ซึ่งทำให้ราคาจำหน่ายทั่วไปเป็นไปตามสัดส่วนราคาหน้าฟาร์มบวกต้นทุนการจำหน่าย เช่น ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาแนะนำขายส่งฟองละ 2.90 บาท ราคาแนะนำขายปลีกฟองละ 3.20 บาท

"ทิศทางราคาไข่ไก่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามสัดส่วนความต้องการที่ลดลงจากก่อนหน้าที่ราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการช่วงการชุมนุมประท้วง และสภาพอากาศร้อนจัด ส่วนการแก้ปัญหาขายหมูเกินราคาแนะนำนั้น หากพื้นที่ใดขายเกินกิโลกรัมละ 115-120 บาท กรมจะแก้ไขโดยนำหมูธงฟ้าเข้าไปจำหน่าย ปัจจุบันพบว่า ยังมีเพียงบางพื้นที่ที่ขายหมูเกินราคาแนะนำ หรือขายที่กิโลกรัมละ 125 บาท" นางวัชรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ