ศูนยวิจัยกสิกรไทย มองส่งออกไทยไปจีน H2/53 ยังบวกแต่แนวโน้มชะลอลง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า การส่งออกของไทยไปจีนในระยะต่อไปอาจต้องเผชิญภาวะอ่อนแรง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอลงตั้งแต่ไตรมาส 2/53 หลังจากที่ขยายตัวสูงถึง 11.9% ในไตรมาสแรก(YoY) คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ในแดนบวก แต่อัตราเติบโตมีแนวโน้มชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ราว 50%

ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.53 การส่งออกไปจีนมีมูลค่า 1,738 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตเร่งขึ้นเป็น 39%(YoY)จากที่ขยายตัว 27% ในเดือน เม.ย.53 (YoY) และกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ 12% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) หลังจากที่หดตัว 14% ในเดือน เม.ย.(MoM) เนื่องจากได้แรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกของจีนที่เติบโตสูงขึ้นเป็น 48.5% (YoY) จาก 30% ในเดือนก่อนหน้า ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีนยังถือเป็นอัตราเติบโตที่ชะลอลงจากไตรมาสแรก

ส่วนการนำเข้าจากจีนในเดือน พ.ค.53 มีมูลค่า 1,977 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 65% (YoY) สูงขึ้นจากที่ขยายตัว 54.6% ในเดือนเม.ย.53 (YoY) มูลค่านำเข้าค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีน 239.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน พ.ค.ชะลอลงจากเดือน เม.ย.ที่ขาดดุล 400.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มูลค่านำเข้าจากจีนในช่วง 5 เดือนแรกเติบโต 57.3% (YoY) ขณะที่การส่งออกไปจีนในช่วง 5 เดือนแรกเติบโต 53.2% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนราว 834 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรก

"การส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 5 เดือนแรกที่เติบโต 53.2% ได้แรงหนุนจากการส่งออกไปจีนในไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวสูงถึง 70% คาดว่าการส่งออกไปจีนมีแนวโน้มชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป แม้การส่งออกไปจีนในเดือนพฤษภาคมกลับมาเติบโตสูงขึ้นเป็น 39% (YoY) จาก 27% ในเดือนเมษายน (YoY) ตามแรงหนุนจากภาคส่งออกของจีนที่ขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ทำให้ความต้องการนำเข้าจากจีนเพื่อใช้ผลิตส่งออกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ปัญหาหนี้สินในยุโรปยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคส่งออกจีน แม้การส่งออกของจีนไปตลาดส่งออกหลักในเดือน พ.ค.ยังคงเติบโตสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป แต่เศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของจีน สัดส่วนราว 20% อาจได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของปัญหาหนี้สินในยุโรป

รวมถึงประเทศตลาดส่งออกหลักของจีนและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในยุโรปอย่างเยอรมนี และฝรั่งเศส ที่อาจเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดของภาครัฐ รวมทั้งอาจต้องประสบปัญหาการเงินตึงตัวเนื่องจากทั้งสองประเทศถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของประเทศกลุ่ม PIIGS (กรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี) ที่ประสบปัญหาหนี้สินและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีในระดับสูง และอาจประสบปัญหาในการชำระคืนหนี้ ทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีและฝรั่งเศสอาจได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอาจขยายตัวไม่สูงนักในปีนี้ ทำให้คาดว่าแรงขับเคลื่อนของการส่งออกไปยังยุโรปของจีนที่จะเป็นปัจจัยผลักดันให้จีนนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/ขั้นกลางจากไทยเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจชะลอลงตามไปด้วย

ปัญหาหนี้สินในยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อในปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนถึงจุดสิ้นสุดของปัญหา และหากสถานการณ์ลุกลามออกไป ก็อาจกดดันให้การเติบโตของยุโรปโดยรวมยังคงอ่อนแรงในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินยูโรยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งผลกดดันให้ค่าเงินหยวนต่อยูโรยังคงอยู่ในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง เงินหยวนต่อยูโรแข็งค่าขึ้นไปแล้วราว 15% จาก ณ สิ้นปี 52

แนวโน้มเงินหยวนต่อยูโรที่ยังคงอยู่ในระดับแข็งค่าในครึ่งหลังของปีนี้ถือเป็นปัจจัยลบที่ทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาปรับสูงขึ้นในตลาดกลุ่มประเทศยูโร และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศกลุ่มยูโรมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากจีนชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้จากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ท่ามกลางความต้องการบริโภคในประเทศยูโรที่ซบเซาอยู่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตไม่มากนักในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและไทยอ่อนแรงลงตามไปด้วย

แม้ว่าการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นตามการประกาศของทางการจีนที่มีนโยบายปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคส่งออกากนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกของจีนมีแนวโน้มชะลอลงตามราคาสินค้าส่งออกที่ปรับสูงขึ้นตามการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวน ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกในภาคอุตสาหกรรมจีนอาจชะลอลงตามไปด้วย

แต่ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกอาจได้อานิสงส์จากราคาสินค้าส่งออกของจีนที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทยโดยเปรียบเทียบปรับสูงขึ้น ขณะที่การบริโภคของครัวเรือนในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอำนาจซื้อที่สูงขึ้นจากการแข็งค่าของเงินหยวน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสเติบโตดีขึ้นเพื่อสนองความต้องการบริโภคภายในจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ