นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ทบทวนโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 7 คัน วงเงินกว่า 833 ล้านบาท และการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 13 คัน วงเงิน 2,145 ล้านบาท
โดยในส่วนของรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 15 ตัน/เพลา จำนวน 7 คัน วงเงิน 757.680 ล้านบาท พร้อมอะไหล่วงเงิน 75.768 ล้านบาท วงเงินรวม 833.448 ล้านบาท ให้เปลี่ยนวิธีการจัดหาจากวิธีแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีมูลค่าเท่ากัน(Barter Trade) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการจัดหาด้วยวิธีปกติ โดย รฟท.เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายจากเงินกู้และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
ส่วนรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 20 ตัน/เพลา จำนวน 13 คัน ในราคาคันละ 165 ล้านบาท วงเงินรวม 2,145 ล้านบาท โดย รฟท.รับภาระค่าใช้จ่ายจากเงินกู้และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้เช่นกัน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้ข้อกำหนดการซื้อขายด้วยวิธีแลกเปลี่ยนสินค้ามูลค่าเท่ากัน (Barter Trade) ลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) มีปัญหาในการดำเนินงานอย่างมาก เนื่องจากมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ปัญหาข้อกฎหมายความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตร การเปลี่ยนแปลงชนิดของสินค้าที่แลกเปลี่ยน รวมทั้งอำนาจการตัดสินใจของผู้เจรจา จึงทำให้การจัดทำสัญญาซื้อขายไม่มีความคืบหน้า
นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนสินค้าในมูลค่าเท่ากัน(Barter Trade) โดยเฉพาะการจัดหารถจักรด้วยการแลกเปลี่ยนข้าวสารกับไทย ฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนจะกำหนดราคารถจักรตามความพอใจ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคาข้าวสารที่อาจสูงขึ้นเนื่องจากกำหนดราคาตามตลาดโลกปัจจุบัน ทำให้ราคารถจักรสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น ประกอบกับผู้ขายรถจักรไม่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการขายข้าวสาร จึงต้องแต่งตั้งตัวแทนจากประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อข้าวสารแทน และในการเจรจาต้องมีตัวแทนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งผลการเจรจายังไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้การดำเนินการเกิดความล่าช้าส่งผลกระทบต่อกิจการเดินรถในการหารายได้ของ รฟท.
"รฟท.เห็นว่าการจัดหาโดยวิธีปกติจะเป็นวิธีการที่สามารถควบคุมเวลาและราคาได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพกว่าการแลกเปลี่ยนสินค้า จึงควรเปลี่ยนวิธีการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าวเป็นวิธีปกติ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ปัจจุบัน รฟท.ประสบปัญหาการขาดแคลนรถจักรใช้งานเพราะรถจักรส่วนใหญ่มีอายุใช้งานนานเฉลี่ยประมาณ 30 ปี และมีความพร้อมในการใช้งาน(Availability) ต่ำ ทำให้ไม่สามารถจัดเดินขบวนรถตามความต้องการของผู้ใช้บริการและไม่สามารถสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งระบบรางตามแผนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการฟื้นฟูฐานะทางการเงินของ รฟท. ซึ่ง รฟท.ได้ปรับแผนการดำเนินการจัดหารถจักรให้สอดรับกับโครงการปรับปรุงทางรถไฟระยะที่ 5 และ 6 เพื่อให้รางรถไฟสามารถรับน้ำหนักกดเพลาได้สูงขึ้นทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2555 ซึ่งจะสอดคล้องกับระยะเวลาของแผนการจัดหารถจักรดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2555 ด้วย