รายงานจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDG) ของประเทศกำลังพัฒนา
เดลฟิน โก นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกเปิดเผยรายงานหัวข้อ "The Global Monitoring Report 2010: the MDGs after the Crisis" ที่ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินเป้าหมายด้านการพัฒนาแห่งสหัสวรรษหลายส่วนด้วยกัน อาทิ ความหิวโหย สุขภาพเด็กและมารดา ความเท่าเทียมทางเพศ การเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด และการควบคุมการระบาดของเชื้อโรค ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อแนวทางการพัฒนาในระยะยาวไปจนถึงปี 2558
โดยรายงานชี้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ประชาชนกว่า 53 ล้านคนยังต้องเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ยากไร้อาจปรับตัวเหลือที่ประมาณ 920 ล้านคนในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงไปมาก จากจำนวน 1.8 พันล้านคนในปี 2533
ขณะเดียวกัน โก กล่าวเสริมว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งมีความคืบหน้าในการดำเนินเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษไปได้มาก แม้ว่าการบรรลุถึงเป้าหมายจะยังอยู่อีกยาวไกล เนื่องจากวิกฤตราคาอาหารในปี 2551 และวิกฤตการเงินที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกในปีนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพชีวิตของผู้ยากไร้ในประเทศกำลังพัฒนาเลวร้ายลง
รายงานระบุด้วยว่า ประเทศกำลังพัฒนาอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญของโครงการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในการลดสัดส่วนของผู้ที่ทนทุกข์ทรมานจากความหิวโหยในปี 2553 ลงให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งในปี 2558 เนื่องจากยังมีประชากรหลายพันล้านคนที่ไม่ได้รับการตอบสนองด้านปัจจัยพื้นฐานทางอาหาร
ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า อัตราการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจอาจอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านรายในระหว่างปี 2552 — 2558