บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ปรับประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศและการส่งออกรถยนต์ไทยขึ้นจากเดิม โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศมีโอกาสขยายตัวได้สูงถึง 28-33% มาที่ 7-7.3 แสนคัน ขณะที่การส่งออกอาจขยายตัวถึง 55-64% หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออก 8.3-8.8 แสนคัน ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ในไทยมีโอกาสขยับขึ้นไปแตะระดับ 1.5-1.6 ล้านคัน หรือขยายตัวประมาณ 50-60% จากปีก่อน เป็นตัวเลขการผลิตที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
จากการรายงานตัวเลขยอดขายรถยนต์ในประเทศของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศสูงถึง 286,135 คัน ขยายตัวถึง 52.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่ง 124,196 คัน ขยายตัวสูงถึง 56.4% ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ 161,939 คัน และขยายตัวสูงถึง 49.1%
สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยที่ขยายตัวสูงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/52 นั้นได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งในและต่างประเทศที่ดีขึ้น และยังเป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตรบางตัว เช่น ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการแข่งขันกันสูงระหว่างบริษัทผู้ให้สินเชื่อ ส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอีกด้านที่คาดว่าเป็นตัวกระตุ้นอุปสงค์ของรถยนต์ในประเทศในปีนี้ค่อนข้างมาก คือ การตอบรับที่ดีอย่างมากต่อรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่เปิดตัวใหม่ เป็นปัจจัยผลักดันให้ยอดขายรถยนต์นั่งในประเทศขยายตัวสูงต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 43% ของตลาดรถยนต์รวม จากที่เคยมีสัดส่วนไม่ถึง 40% ในปี 51 และความนิยมต่อรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นนี้ คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดรถยนต์นั่งมีสัดส่วนสูงขึ้น
ล่าสุดการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 มีการขยายตัวดีขึ้นมากถึง 75.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวน 348,899 คัน ถ้าดูในส่วนของมูลค่าการส่งออกที่รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ในช่วงเวลาเดียวกันก็พบว่าขยายตัวสูงเช่นกันที่ 90.1% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5,013.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูง คือ ออสเตรเลีย และอาเซียน ซึ่งมีการขยายตัวสูงถึง 159.2% และ 115.5% ตามลำดับ
ขณะเดียวกันการเปิดเสรีทางการค้ายังส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นเข้ามายังไทย หลังต้นทุนวัตถุดิบและราคาส่งออกลดลงเพื่อขยายฐานการส่งออก ประกอบกับในปีนี้ไทยมีการเปิดตัวรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานรุ่นใหม่ หรือ รถอีโคคาร์ ออกสู่ตลาดสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันของตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยในปีนี้ได้อีกทางหนึ่ง
ปริมาณการผลิตรถยนต์ที่สูงขึ้นมากสร้างความท้าทายในลำดับต่อไปให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ในการจะผลิตรถยนต์ให้ได้ตามเป้าหมายแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับที่ 2 ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตรถยนต์ให้ได้ 2 ล้านคัน ในปี 54 ซึ่งภาครัฐมีส่วนสำคัญในเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในไทย ทั้งในแง่ของการขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิม
รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามายังไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากจีนซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเป็นฐานการส่งออกรถยนต์ไปยังหลายภูมิภาค เช่น โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น มีโอกาสเพิ่มขึ้นในการถูกมองเป็นฐานการลงทุนสำหรับผลิตรถยนต์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถยนต์ของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญในระยะต่อไป คือ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความวิตกกังวลต่อวิกฤตหนี้ในยุโรป รวมถึงการใช้มาตรการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากหลายประเทศลดลง ซึ่งมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้การส่งออกของตลาดส่งออกรถยนต์หลักของไทย เช่น อาเซียนและออสเตรเลีย เป็นต้น ทำให้การนำเข้ารถยนต์จากไทยของประเทศเหล่านี้อาจชะลอลงได้