นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในวันนี้ ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นคนละตลาดกัน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวดีมาก จึงมีความกังวลปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาฟองสบู่ ดังนั้น การทำนโยบายการเงินจึงน่าจะเป็นคนละทางกัน เช่นเดียวกับที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี การส่งออกเติบโตสูงและขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้การใช้จ่ายในประเทศขยายตัวสูงขึ้นไปด้วย ความจำเป็นการใช้นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลายมาก ๆ มีน้อยลง ในระยะต่อไปนโยบายการเงินก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังต้องรอลุ้นว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ในไตรมาส 3-ไตรมาส 4/53 หรือไม่ หลังจากที่ปัญหาการเมืองมีผลกระทบอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็จะต้องขึ้นกับการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)จะต้องพิจารณา
ส่วนการลงทุนก็ชะลอตัวไปแล้ว แต่การส่งออกยังขยายตัวดี เพราะฉะนั้นการลงทุนเพื่อการส่งออกน่าจะดีด้วย
สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายค่าเงินหยวนของจีนนั้น นางธาริษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาค่าเงินหยวนก็เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางการจีนดำเนินการอเนื่องมาตั้งแต่ปี 50 แต่ได้หยุดไปเมื่อปี 51 ซึ่งการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง เพราะจีนมองว่าขณะนี้เศรษฐกิจแข็งแกร่งและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินได้ ขณะเดียวกันก็ถูกแรงกดดันจากนอกประเทศให้ปรับค่าเงินหยวนด้วย
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทและค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้มีการ overshoot จากค่าเงินหยวนที่แข็งค่า แต่ตอนนี้ก็กลับมาบ้างแล้ว การทำนโยบายของจีนทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะตอนนี้เงินหยวนเทียบดอลลาร์และยูโรแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินบาท
สำหรับผลกระทบที่มีต่อการส่งออกไทยไม่มากนัก เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนประมาณ 11% นอกจากนั้น จีนยังมีนโยบากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศด้วย น่าจะทำให้ผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า