นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ดำเนินการจัด "งานมหกรรมข้าวภาคเหนือ ครั้งที่ 1" ขึ้นบริเวณท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์ ในระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค.เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวภาคเหนือให้เป็นที่รู้จักทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย การส่งออกข้าว และการหาตลาดต่างประเทศระบายผลผลิตข้าว เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ เนื่องจากการแข่งขันจะสูงขึ้นหลังเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือ หอการค้าจังหวัดภาคเหนือ ชมรมโรงสีข้าวภาคเหนือ และสถาบันการศึกษาใน 17 จังหวัดภาคเหนือ
"หวังว่างานนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกันถึงความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์กลางการค้าของประเทศ(Hub of Rice) ศูนย์ข้อมูลฯและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ข้าว) หรือ Stock Marketในอนาคต" นายยรรยง กล่าว
ปัจจุบันภาคเหนือสามารถปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี 2552 ได้จำนวนทั้งสิ้น 7,588,847 ตัน มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท คาดกันว่าในฤดูการผลิตปีนี้ 17 จังหวัดภาคเหนือจะมีปริมาณผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 9,450,673 ตัน หรือร้อยละ 30 ของปริมาณผลผลิตข้าวทั่วประเทศ
ขณะที่ตัวเลขการส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายนปีนี้ มีจำนวน 1,964,844 ตัน จึงถือว่าเป็นแหล่งผลิตผลผลิตที่สำคัญของประเทศ โดยมีท่าข้าวกำนันทรงให้บริการด้านการขนถ่าย ต่อมามีการศึกษาเพื่อพัฒนาท่าข้าวกำนันทรงเป็นศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (IMH) และศูนย์ส่งออกข้าวแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อลดต้นทุนสินค้าข้าวให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ทั้งทางรถบรรทุก ทางรถไฟ ทำให้ไม่ต้องผ่านพ่อค้าส่งออกในกรุงเทพฯ และจะนำร่องไปสู่ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เช่น มันสำปะหลังได้อีกด้วย
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดหวังว่า ในอนาคตศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์ส่งออกข้าวแบบเบ็ดเสร็จคือ มีระบบตรวจสอบคุณภาพข้าว มีศุลกากร และเป็นศูนย์กลางข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลทางการค้า ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลกับ 17 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและข้อมูลทางการค้าของกลุ่มภาคเหนือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งเรื่องนี้ กลุ่ม Canadian International Development Agency Industrial Co-Operation Program (CIDA) เคยเข้ามาสนับสนุนการวิจัยโอกาสและความเป็นไปได้ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า ท่าข้าวกำนันทรงมีความเหมาะสมจัดตั้งศูนย์ส่งออกข้าวแบบเบ็ดเสร็จ
"ศูนย์ข้อมูลนี้นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ยังช่วยพัฒนาการเรียนรู้กลยุทธ์การส่งออกข้าว รู้จักตลาดส่งออกข้าวแล้ว ยังสร้างภาพลักษณ์ให้กับข้าวไทย และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้ผลิตในภาคเหนือ เพื่อรักษาช่องทางการตลาด และขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น และลดผลกระทบและปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ปัจจุบันยังขาดเสถียรภาพในด้านราคา รวมทั้งลดปัจจัยเสี่ยงทางการตลาดจากภายนอก โดยเฉพาะเมื่อต้องเปิดการค้าเสรีอาเซียนที่มีข้าวรวมอยู่ด้วย อันจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น"นายยรรยง กล่าว