พลังงานเตรียมเสนอ กพช.ตรึงราคา LPG-NGV-ค่า Ft อีก 6 เดือนถึง ก.พ.54

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 25, 2010 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ให้ขยายเวลาตรึงราคาพลังงาน ทั้งราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(LPG) ก๊าซธรรมชาติ(NGV) และค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft) ออกไปอีก 6 เดือน หรือไปจนถึงเดือน ก.พ.54 หลังจากมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค.นี้

ทางการคาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินรวม 21,620 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องชดเชยการนำเข้า LPG ประมาณ 2,204 ล้านบาท/เดือน หรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 13,224 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯ จ่ายชดเชยราคา NGV ในอัตรา 2 บาท/กิโลกรัม คาดว่าจะเป็นภาระต่อกองทุนน้ำมันฯ ประมาณ 300-400 ล้านบาท/เดือน หรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,800-2,400 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะแบกรับภาระการตรึงค่าเอฟทีถึงสิ้นปี 53 ประมาณ 5,996 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กพช.ว่าจะเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอหรือไม่ โดยกระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่าที่ต้องตรึงราคาพลังงานต่อไป เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง และมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย เพื่อให้สนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลผลกระทบทางด้านพลังงาน

ประกอบกับ ประมาณการรายรับรายจ่ายของกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงเดือน ก.ย.53 ถึง ก.พ.54 มีรายรับสุทธิประมาณ 109 ล้านบาท ซึ่งยังสามารถรับภาระการชดเชยการนำเข้า LPG และชดเชยราคา NGV ต่อไปได้ รวมทั้งภาระค่า Ft ของ กฟผ.ได้ลดลงจากที่ได้ประมาณการไว้ จึงเห็นควรให้ขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อไปอีก 6 เดือน

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอให้มีการลดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder)จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลงเหลือ 6.50 บาท/หน่วย จากปัจจุบัน 8 บาท/หน่วย โดยคงระยะเวลาไว้ที่ 10 ปีเช่นเดิม เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับ Adder สูงกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ประกอบกับมีผู้เสนอโครงการขายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากถึง 2,900 เมกะวัตต์ จากที่มีแผนรับซื้อเพียง 500 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องมีการทบทวนใหม่เพื่อความเหมาะสม

แต่ก็จะมีการใช้ Adder อัตราใหม่สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา แต่โครงการที่มีสัญญาแล้วจะได้รับ Adder ในอัตราเดิม อีกทั้งจะมีการยกเลิกการใช้ Adder แล้วเปลี่ยนมาใช้ Feed-in-tariff แทน ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้ารวมต่อหน่วยที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้รับจาก กฟผ. โดยฝ่ายนโยบายเป็นผู้กำหนดอัตรา Fit ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละเทคโนโลยีเพื่อจูงใจการลงทุนจากภาคเอกชน โดยจะพิจารณาเป็นรายโครงการ

ส่วนกรณีที่นายมั่น พัธโนทัย รมช.คลัง จะเสนอที่ประชุม กพช.อนุมัติให้ลดราคาน้ำมัน 2 บาทต่อลิตร ด้วยการลดการจัดเก็บภาษีนั้น นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีวาระอยู่ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าน่าจะใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง ไม่ควรใช้กลไกสนับสนุนราคาพลังงานจากกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วย เพราะกองทุนน้ำมันฯ จัดเก็บเงินจากน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนในอัตราที่น้อยอยู่แล้ว และมีภาระต้องชดเชยราคา LPG ซึ่งหากจะต้องมาชดเชยราคาน้ำมันให้ลดลงอีก อาจจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีผลขาดทุนได้ และกองทุนน้ำมันฯ เองก็ต้องการให้มีเงินในกองทุนไว้ในระดับประมาณไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อไว้ดูแลในสถานการณ์ฉุกเฉิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ