นายกฯ วาง 5 หลักการดูแลปัญหาผู้สูงอายุ ผลักดันกองทุนเงินออมแห่งชาติรองรับ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 25, 2010 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง "ทิศทางการจัดการสังคมผู้สูงอายุของท้องถิ่นไทยในอนาคต"ว่า รัฐบาลตั้งหลักการดูแลปัญหาไว้ 5 หลักคือ 1. การเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าบนการมีฐานข้อมูลและการพยากรณ์ เพราะสามารถพยากรณ์สัดส่วนของประชากรได้ค่อนข้างแม่นยำพอสมควรว่าโครงสร้างของประชากรผู้สูงอายุในแต่ละปี ๆ ที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่สัดส่วนเท่าไรในปีใด

2. ต้องตระหนักถึงคุณค่าของประสบการณ์ความรู้และศักยภาพของผู้สูงอายุ 3. มีการสร้างหลักประกันเรื่องของรายได้ ความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมการเกี่ยวกับระบบสวัสดิการอย่างชัดเจน 4. ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพเป็นเบื้องต้น

5. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและพื้นที่เข้ามาดูแลให้มากที่สุด เพราะมีความใกล้ชิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยคำนึงถึงความแตกต่างความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่ง 5 หลักดังกล่าวคือสิ่งที่รัฐบาลยึดถือดำเนินการ โดยได้เตรียมการและมีมาตรการที่เกี่ยวข้องพอสมควร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่นำไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยี วิทยาการ ที่ทำให้คนมีอายุยืนขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งโครงสร้างครอบครัวที่จะมีลูกน้อยลงซึ่งเป็นธรรมชาติของทุกสังคม ดังนั้น การบริหารจัดการในเรื่องของผู้สูงอายุ จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลงตรงนี้

นอกจากนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ภาคการเกษตร ที่อายุเฉลี่ยของเกษตรกรขณะนี้ถือว่าสูงมาก ซึ่งก็เป็นประเด็นที่เป็นโจทย์สำคัญของการบริหารจัดการในเรื่องของสวัสดิการของผู้สูงอายุ เพราะภาคการเกษตรเป็นภาคที่ขาดระบบสวัสดิการที่รองรับ หรือแม้กระทั่งในระบบราชการปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของราชการก็เพิ่มขึ้นซึ่งแตกต่างกับหลายประเทศ และก็มีปัญหาในเรื่องของการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในระบบราชการด้วย

ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างประชากรกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจสังคมภาพรวม ทำให้เรามีความจำเป็นต้องปรับแนวความคิด แม้กระทั่งปรับรื้อหลายระบบเพื่อที่จะรองรับความท้าทายที่ซึ่งกำลังจะตามมา

รัฐบาลจึงจะผลักดันกองทุนเงินออมแห่งชาติ เพื่อเข้าไปดูแลคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถที่จะมีระบบการออมเพื่อชราภาพได้ โดยรัฐบาลจะสมทบเงินเข้าไปในกองทุนนี้ และต้องมีการขยายการเนินการไปสู่ท้องถิ่นโดยกองทุนสวัสดิการชุมชนในแต่ละชุมชนเอง ให้ท้องถิ่นสามารถมาสมทบในเรื่องของกองทุนสวัสดิการหรือกองทุนเงินออมให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เดินหน้าโครงการแล้ว และให้มีการกระจายไปในหลายสาขาอาชีพ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม โดยเฉพาะต้องสามารถดูแลด้านสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับปัญหาของเบี้ยยังชีพในขณะนี้รัฐบาลกับท้องถิ่นได้มีการตกลงกันว่าในอนาคต ท้องถิ่นยังคงมีบทบาทในการบริหารจัดการส่วนหนึ่ง เพราะจะต้องเป็นผู้รับการขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ มีฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชากรที่เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนระบบการจ่ายเงินที่ปัจจุบันมีสองทางคือผ่านธนาคารกับผ่านทางท้องถิ่นนั้น อนาคตจะปรับเข้ามาสู่ระบบธนาคารมากขึ้น

และเพื่อไม่ให้ท้องถิ่นมีความรู้สึกว่าเงินในส่วนนี้ท้องถิ่นก็ได้มีโอกาสหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ต่อไปรัฐก็จะนับเงินส่วนนี้ทั้งหมดเป็นงบประมาณในสัดส่วนของส่วนกลาง ไม่ใช่ของส่วนท้องถิ่น ก็จะถือว่าไม่ไปเบียดเอาสัดส่วนซึ่งตามกฎหมายกำหนดเอาไว้ 25 เปอร์เซ็นต์ หรือจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ให้มารวมเงินในส่วนนี้ ซึ่งท้องถิ่นไม่สามารถที่จะมีทางเลือกในการบริหารจัดการได้ และขอย้ำว่าตรงนี้เป็นจุดสำคัญในเชิงการบริหารจัดการที่จำเป็นจะต้องเข้ามากำหนดกฎกติกาในการทำงานให้ชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ