ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองคำปิดพุ่ง 10.30 ดอลลาร์ เหตุวิตกการฟื้นตัวของศก.ดันนลท.เข้าซื้อทอง

ข่าวต่างประเทศ Saturday June 26, 2010 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเป็นวันที่สองเมื่อคืนนี้ (25 มิ.ย.) เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง นอกจากนั้น เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงยังช่วยดึงดูดความน่าลงทุนในโลหะมีค่าด้วย

สัญญาทองคำ COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 10.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,256.20 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1,241.60 - 1,259.50

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 37.4 เซนต์ ปิดที่ 19.110 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 8.7 เซนต์ ปิดที่ 3.111 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 8.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,570.40 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย.พุ่ง 7.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 477.90 ดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในโลกขยายตัว 2.7% ต่อปีในไตรมาส 1/2553 น้อยกว่าที่ประเมินไว้ในเดือนที่แล้วที่ระดับ 3% ซึ่งการปรับทบทวนจีดีพีลง ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวที่แย่กว่าคาด อาทิ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ที่ได้รับการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และถือเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้น อย่างไรก็ดี ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยดังกล่าวกลับหนุนให้ราคาทองคำพุ่งสูง เพราะนักลงทุนปลีกตัวจากตลาดหุ้นและหันมาลงทุนซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงแทน

ขณะเดียวกัน ต้นทุนการประกันหนี้สาธารณะของกรีซที่ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดเมื่อวานนี้ ตลอดจนสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังไม่มีความแน่นอนก่อนการประชุม จี20 วันเสาร์-อาทิตย์นี้ที่แคนาดา และเงินดอลลาร์ที่ร่วงลง ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดทองคำ

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเป็นวันที่สามเมื่อเทียบกับตระกร้าสกุลเงินหลักทั้งหกสกุล ซึ่งเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งซื้อขายกันในสกุลดอลลาร์ มีราคาที่น่าดึงดูดในในสายตาของผู้ซื้อต่างชาติ

บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศร่ำรวยและกำลังพัฒนา 20 ประเทศ หรือ จี20 จะหารือเรื่องวิกฤตหนี้ยุโรปและประเด็นอื่นๆที่กรุงโทรอนโต ช่วงสุดสัปดาห์นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ