นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ขยายเวลามาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน หรือ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 53 จากเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 มิ.ย.นี้ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ขยายเวลามาตรการดังกล่าวต่อไป เพราะขณะนี้ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง
โดยยืนยันว่าการขยายเวลามาตรการในครั้งนี้จะยังคงรูปแบบการช่วยเหลือไว้เช่นเดิม ประกอบด้วย การลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าครัวเรือน ลดค่าโดยสารรถประจำทาง และลดค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 เนื่องจากเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือคนยากจนได้เป็นจำนวนมาก อาทิ การลดไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนนั้น ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าน้อยจริงๆ เท่านั้น
สำหรับรายละเอียดของมาตรการลดค่าครองชีพ ที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ก.พ.นั้น ใช้งบประมาณ 4,538.53 ล้านบาท ในการขยายมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอีก 3 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 มีค.53 เป็น วันที่ 30 มิ.ย. 53 ประกอบด้วย การลดไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จะมีผู้ได้รับประโยชน์ 8 ล้านครัวเรือน มาตรการลดค่าโดยสารประจำทางธรรมดา 800 คันต่อวันใน 73 เส้นทาง
ส่วนมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม 164 ขบวนต่อวัน และชั้น 3 ระยะทางไกลเชิงพาณิชย์ 8 ขบวนต่อวัน ซึ่งการขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือนนั้น
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 8,000 ล้านบาท
รมว.คลัง ยังกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะหารือกับนายมั่น พัธโนทัย รมช.คลัง ที่มีนโยบายที่จะลดราคาขายปลีกน้ำมันลงลิตรละ 2 บาท ซึ่งนายมั่นเห็นว่าต้นทุนการกลั่นน้ำมันของไทยแพง จึงมีแนวทางที่จะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย ซึ่งอาจทำให้ราคาขายปลีกลดลงได้
อย่างไรก็ตาม นายกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้มีส่วนช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศลดลงมาได้อยู่แล้ว และยังเชื่อว่าราคาน้ำมันจะมีระดับมาตรฐานทั่วโลก หากคุณภาพระดับเดียวกันก็เชื่อว่าราคาก็ไม่ต่างกันมาก