ที่ประชุม G-20 มีมติหนุนการลดยอดขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ-เสริมสร้างสถานะการคลัง

ข่าวต่างประเทศ Monday June 28, 2010 07:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา 19 ประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป หรือ G-20 ที่เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา ได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อค่ำวานนี้ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นการประชุมภายใต้หัวข้อ "Recovery and New Beginnings" โดยหัวข้อสำคัญที่ผู้นำกลุ่ม G-20 ได้หารือกันและมีมติร่วมกัน มีดังต่อไปนี้

-- ผู้นำกลุ่ม G-20 มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะเปราะบางและผันผวน ขณะที่อัตราว่างงานในหลายประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้

-- ที่ประชุมมีมติให้กำหนดนโยบายเพื่อเสริมสร้ามความแข็งแกร่งด้านการคลัง และรักษาสมดุลด้านการคลังภายในประเทศ

-- กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้มาตรการการคลังเพื่อลดยอดขาดดุลให้ได้ภายในปี 2556 และลดตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลต่อหน่วยจีดีพีลงให้ได้ภายในปี 2559

-- ที่ประชุมเห็นชอบให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

-- ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศที่มียอดเกินดุลอยู่แล้วนั้น ดำเนินการปฏิรูปเพื่อลดการพึ่งพาดีมานด์จากต่างประเทศและมุ่งเน้นการกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ

กลุ่ม G-20 ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า "ที่ประชุมมีมติกำหนดเป้าหมายการเสริมสร้างสถานะการคลังให้แข็งแกร่ง และออกมาตรการต่างๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืน และสมดุล กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้มาตรการการคลังเพื่อลดยอดขาดดุลให้ได้ภายในปี 2556 และลดตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลต่อหน่วยจีดีพีลงให้ได้ภายในปี 2559 ในส่วนของญี่ปุ่นนั้น ผู้นำ G-20 มีความพอใจที่ญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการคลัง และที่ประชุมขอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆที่กำลังประสบปัญหาด้านการคลัง ให้เร่งเสริมสร้างสถานะการคลังในประเทศของตนให้แข็งแกร่ง"

"ผู้นำ G-20 ให้ความสำคัญกับการป้องกันและการหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืนเป็นลำดับต้นๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืน และสมดุล เพื่อป้องกันระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของเราไม่ให้เผชิญกับความเสี่ยง ในส่วนของประเทศที่มียอดเกินดุลนั้น ที่ประชุมขอให้ประเทศกลุ่มนี้เร่งกระตุ้นอัตราการออมภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างตัวเลขเกินดุลทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะลดการพึ่งพาดีมานด์ในต่างประเทศ" แถลงการณ์ระบุ

ส่วนการปฏิรูปภาคการเงินนั้น ที่ประชุมขานรับสหภาพยุโรปที่เดินหน้าใช้กลไกสร้างเสถียรภาพในยุโรป รวมถึงการทดสอบสถานะทางการเงินของธนาคาพาณิชย์ และยังขานรับสภาคองเกรสสหรัฐที่ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปการเงิน ที่ครอบคลุมถึงการจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้บริโภคทางการเงิน จัดตั้งกระบวนการในการปิดบริษัทการเงินที่ประสบปัญหา และยกระดับมาตรฐานเงินกองทุนของธนาคาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติสินเชื่อแบบในปี 2550 - 2552 ขึ้นอีก

ในระหว่างการประชุมนั้น ผู้นำกลุ่ม G-20 เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะร่วมมือกันมากขึ้นในการสร้างระบบการเงินโลกให้แข็งแรง อีกทั้งควรเพิ่มฐานเงินทุนให้มากพอเพื่อรองรับการปฏิรูปด้านการเงินที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้า ซึ่งในโอกาสนี้ ผู้นำ G-20 เรียกร้องให้กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีการดำเนินการที่โปร่งใสและไม่เลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ ผู้นำ G-20 ประกาศว่าจะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ขณะเดียวกัน ที่ประชุมย้ำว่าจะนำหัวข้อการค้าโลกรอบโดฮามาปรับสมดุลและหาข้อสรุปให้ได้ในเร็วๆนี้

นอกเหนือจากการปฏิรูปด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศแล้ว ที่ประชุมยังได้หารือกันเรื่องการพัฒนา การสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้วย

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กลุ่ม G-20 ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ สหภาพยุโรป อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก เกาหลีใต้ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ และตุรกีนั้น มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 90 ของมูลค่าเศรษฐกิจทั่วโลก

ส่วนการประชุม G-20 ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 11 - 12 พ.ย.ปีนี้ หลังจากนั้นจะจัดขึ้นในเดือนพ.ย.ปี 2554 ที่ฝรั่งเศส และจะจัดขึ้นอีกในปี 2555 ที่เม็กซิโก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ