ประเมินเงินเฟ้อครึ่งปีหลังเร่งตัวแต่ไม่แรง ติดตามมาตรการช่วยค่าครองชีพ-เงินหยวน-ภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 28, 2010 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเห็นพ้องประเมินอัตราเงินเฟ้อช่วงครึ่งหลังของปี 53 เร่งตัวขึ้นจากครึ่งปีแรกมาอยู่ในช่วง 3.5-4.5% ภายใต้ปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลอาจไม่ขยายมาตรการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนออกไปอีก ประกอบกับ ราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าครึ่งปีแรก

แต่เชื่อว่าการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อยังไม่รุนแรง เนื่องจากสินค้าหลายรายการยังอยู่ภายใต้การควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มจะขอให้ตรึงราคาออกไปจนถึงเดือน ก.ย.นี้

อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์แถลงอัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่ระดับ 3.6%

          สถาบัน                    เงินเฟ้อ H2/53          เงินเฟ้อปี 53
          สถาบันวิจัยนครหลวงไทย            4.0%              3.0-4.0%
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                 3.5%              3.0-4.0%
          ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ         3.5-4.5%            3.5-5.0%
          กระทรวงพาณิชย์                  n/a               3.0-3.5%
          สภาพัฒน์ฯ                       n/a               3.0-4.0%

นายกิตติพงศ์ กังวาลเกียรติชัย นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI) คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตขึ้นอย่างชัดเจนจากช่วงครึ่งปีแรก มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI)ช่วงครึ่งปีหลัง(H2/53)จะเฉลี่ยที่ราว 4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI)จะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.75% ถือว่าค่อนข้างสูงขึ้นมาก จากในช่วงครึ่งปีแรกที่เฉลี่ยไม่เกิน 1% ขณะที่ทั้งปี 53 มองเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 3-4% มีช่วงเฉลี่ยราว 3.75%

ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อ 2 เรื่อง ปัจจัยแรก คือ การยกเลิกมาตรการของรัฐบาลในการลดค่าครองชีพให้ประชาชน แต่ข่าวที่ออกมาเหมือนมีแนวโน้มว่าจะคงไว้ต่อไป อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงจากที่คาดไว้

ปัจจัยต่อมา คือ สินค้าอาหาร ที่เป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อช่วงครึ่งปีหลังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับอุปสงค์หรือออร์เดอร์ที่จะทยอยออกมา จะเป็นตัวเร่งให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศปรับตัวสูงขึ้น

"เงินเฟ้อทั้งปี ถือว่าเป็นการปรับตัวตาม consumption ที่มีการขยายตัวขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อถือเป็นสัญญาณบวกได้เกี่ยวกับ consumption โดยรวมทั้งปีเรามองกรอบไว้ที่ 3-4%"นายกิตติพงศ์ ระบุ

จากการประเมินอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะเร่งตัวในครึ่งปีหลังนี้ อาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้บ้าง SCRI คาดว่าช่วงไตรมาส 3/53 มีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% แต่ทั้งปีคาดว่าจะปรับขึ้นไม่เกิน 0.50% ซึ่งเป็นการปรับเพียงเพื่อเตือนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังคงมีนโยบายคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในกรอบ 0.5-3.0% มากกว่าที่จะต้องการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน

นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยหลักๆ ต่ออัตราเงินเฟ้อครึ่งปีหลัง อาจจะมาจากกรณีที่จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น ซึ่งมีผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นตาม และมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้

ด้านนางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า จากอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/53 ที่เริ่มชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 3.2% นั้น ทำให้ไตรมาส 3-4 ของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้นมาก คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้เงินเฟ้ออาจอยู่ที่ 3.5%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อครึ่งปีหลังเร่งตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก มาจากระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในช่วงท้ายปีจะมีเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอการเติบโตลงบ้าง แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยังมากกว่าปีที่แล้ว

"แม้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ชะลอลง แต่ก็ยังคงขยายตัว ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงกว่าปีก่อน น่าจะทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสขึ้นไปเหนือ 80 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ ถ้า sentiment ของเศรษฐกิจโลกกลับมาดี น่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง"นางพิมลวรรณ กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องจับตามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ตลอดจนการตรึงราคาพลังงาน เช่น ก๊าซ NGV และ LPG ว่าจะสิ้นสุดในช่วงใด จะยืดอายุต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าวก็อาจมีผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 53 เพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.2% จากกรอบเป้าหมายที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกำหนดไว้ 3-4% โดยมีโอกาสเป็นไปได้มากสุดที่ระดับ 3.5%

นางพิมลวรรณ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังคงต้องติดตามภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เช่น ราคาน้ำมัน ราคาสินค้า commodity รวมทั้งมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ตรึงราคาสินค้าไว้จนถึงสิ้น ก.ย.53 ซึ่งหากหมดช่วงนั้นไปแล้ว ผู้ประกอบการก็มีแนวโน้มจะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นถ้าเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

ขณะเดียวกันต้องติดตามภาวะราคาสินค้าเกษตร จากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดได้น้อย ทำให้ราคาอาหารสดมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังทั้งสิ้น

นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ(BBL) มองว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 3.5-4.5% ไม่น่าจะสูงไปกว่านี้ เพราะปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแรงงาน รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมากนัก ปัจจัยที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมาจากมาตรการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการลดค่าครองชีพมากกว่า

"ปัจจัยพื้นฐานที่จะมากระทบกับเงินเฟ้อ ยังไม่ได้กดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงมาก แต่น่าจะเป็นปัจจัยทางเทคนิคมากกว่า เช่น การยกเลิกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพที่รัฐอาจจะลดขนาดการช่วยเหลือลง พอปล่อยให้ราคากลับเข้าสู่ปกติ และเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน จะทำให้เงินเฟ้ออาจสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง"นายพงศ์พัฒน์ ระบุ

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีหลังอาจอยู่ในระดับกว่า 4% ขณะที่ทั้งปี 53 มองว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 3.5-5% โดยให้ค่าเฉลี่ยไว้ที่ 4.2%

นายพงศ์พัฒน์ กล่าวว่า โอกาสที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ในระดับสูงคงมีไม่มากนัก เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคหลายรายการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ราคาสินค้าไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเท่าที่ควร ประกอบกับ ปัจจัยพื้นฐานเรื่องภาคการผลิตในประเทศยังไม่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วมากนัก

"การจะเห็นเงินเฟ้อที่สูงมากๆ คงไม่ได้เห็นในบ้านเรา เพราะทางการคอยมอนิเตอร์อยู่...ต้องดูว่าภาคการผลิตในบ้านเราจะฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด มองแล้วยังไม่น่าฟื้นตัวได้เร็วมากนัก ซึ่งหากค่าแรงเพิ่ม ความต้องการแรงงานเพิ่มจากการส่งออกที่ยังโตไม่หยุด เศรษฐกิจโลกเติบโตชัดเจน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะมีโอกาสต่อเงินเฟ้อ โอกาสเช่นนั้นดูแล้วยังมีไม่มาก"ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย BBL ระบุ

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ไว้ในกรอบ 3.0-3.5% ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ในกรอบ 3-4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ