ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพ.ค.โต 15.9% น้ำดื่ม-ยานยนต์-ฮาร์ดดิสก์-เหล็ก มาแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 28, 2010 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย หาญหิรัญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า ดัชนีผลผลิต(มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 184.94 เพิ่มขึ้น 15.9% จากระดับ 159.57

ส่วนดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 186.29 เพิ่มขึ้น 18.4% จากระดับ 157.39 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 189.17 เพิ่มขึ้น 5.4% จากระดับ 179.54 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 117.30 เพิ่มขึ้น 8.3% จากระดับ 108.32 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 139.53 เพิ่มขึ้น 2.9% จากระดับ 135.65 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 64.0% สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลต่อการขยายตัวที่สำคัญ ประกอบด้วย การผลิตน้ำดื่ม, ยานยนต์, Hard disk drive, การแปรรูปสัตว์น้ำ, การผลิตเหล็ก

ทั้งนี้ การผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตเพิ่มขึ้น 17.2% และการจำหน่ายเพิ่มขึ้น 10.2% เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวผู้บริโภคมีกำลังจับจ่ายสินค้ามากขึ้น และเดือนพ.ค.ยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน จึงมีความต้องการบริโภคน้ำดื่มในปริมาณสูงส่งผลต่อการขยายตัวทั้งการผลิตและจำหน่าย

ส่วนการผลิตยานยนต์ขยายตัวถึง 90.6% และการจำหน่ายขยายตัว 78.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวของทุกรถยนต์ทุกประเภท เนื่องจากผู้ผลิตเร่งผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออก โดยในเดือนพ.ค.53 การส่งออกรถยนต์สูงขึ้นกว่า 135.25% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปีปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ จาก 1.4 ล้านคัน เป็น 1.5-1.6 ล้านคัน โดยจำหน่ายในประเทศประมาณ 700,000 คัน และส่งออกประมาณ 900,000 คัน

การผลิต Hard disk drive การผลิตเพิ่มขึ้นมากถึง 14.5% และการจำหน่าย เพิ่มขึ้น 6.4% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและการปรับตัวของผู้ผลิตที่สามารถผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ จีน และสหรัฐ โดยตลอดปี 2553 มีทิศทางการขยายตัวที่ดี เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่แข็งแกร่ง สามารถรับคำสั่งซื้อได้จำนวนมากและส่งมอบสินค้าทันตามกำหนด ผู้นำเข้าทั่วโลกจึงให้ความไว้วางใจส่งผลต่อการขยายตัว ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ประมาณ 10%

การผลิตอาหารแปรรูปจากสัตว์น้ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น 14.6% และการจำหน่ายเพิ่มขึ้น 14.7% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าหลัก เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง, ปลาซาร์ดีนกระป๋อง, กุ้งแช่แข็งและเนื้อปลาแช่แข็ง ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลก และช่วงเดือนพ.ค.นี้ มีปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ทำให้สหรัฐฯ สั่งนำเข้ากุ้งจากไทยมากขึ้น

ส่วนการผลิตเหล็ก การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 42.0% และ 27.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นไปตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้าง และโครงการใหญ่ของรัฐบาลในด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในด้านต่างๆ มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และราคาเหล็กในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการปรับตัวให้สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบแร่เหล็ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ