BIS แนะธนาคารกลางนานาประเทศพิจารณาเรื่องการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวต่างประเทศ Monday June 28, 2010 18:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุในรายงานประจำปีที่เผยแพร่ในวันนี้ว่า ธนาคารกลางและรัฐบาลของประเทศต่างๆควรจะพิจารณาเรื่องการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระทบกระเทือนต่อการตัดสินใจด้านการลงทุน และช่วยให้บริษัทเอกชนได้ตระหนักถึงภาวะขาดทุนขององค์กร

BIS กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่างๆจะต้องพิจารณาดูว่า จะถอนมาตรการเหล่านี้เมื่อไร และจะยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าวอย่างไร โดยชี้ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำนานจนเกินไปอาจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ การรับรู้เรื่องขาดทุนช้าออกไป อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินการเพื่อสร้างผลตอบแทน และยังอาจกระตุ้นให้อัตราการกู้ยืมสูงขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศยังจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาสินทรัพย์และสินเชื่อที่พุ่งขึ้นจนกลายเป็นปัจจัยคุกคามต่อเสถียรภาพด้านราคาและการขยายตัว

ธนาคารกลางยุโรปได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1% มาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ส่วนธนาคารกลางสหรัฐก็ประกาศว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ขณะที่วิกฤตการเงินกรีซที่ลุกลามไปยังหลายประเทศในภูมิภาคก็ทำให้ธนาคารกลางยุโรปเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นครั้งแรกในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา

BIS ระบุว่า วิกฤตกรีซยังตอกย้ำถึงความเสี่ยงที่ว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สูง อาจจะไม่มีสินทรัพย์ในการสนับสนุนระบบการธนาคารของประเทศในยามจำเป็น หรือไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อสินทรัพย์เพื่อช่วยเหลือธนาคารในยามวิกฤตได้ หากหนี้ของรัฐบาลอยู่ในระดับสูงด้วยแล้ว การแก้ปัญหาในระบบการธนาคารของประเทศก็คงจะต้องหันไปหาทางช่วยจากต่างประเทศแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ