(เพิ่มเติม1) คลัง ปรับคาดการณ์ GDPปีนี้เป็น 5-6%มีสิทธิทะลุ 6%ถ้าครึ่งหลังดีกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 29, 2010 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ในปี 53 คาดว่าจะเติบโต 5-6% จากเดิมคาดเติบโต 4-5% จากปีก่อน พร้อมกับปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) ปีนี้มาอยู่ที่ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 4% จากผลของการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน

ขณะที่ตัวเลข GDP ในช่วงไตรมาส 2/53 นี้คาดว่าจะเติบโตราว 5.6%

นายสาธิต รังคศิริ ผู้อำนวยการ สศค.ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่า การปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยสนับสนุนคือเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/53 ขยายตัวสูงถึง 12% ต่อปี ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าใหม่ในเอเชียที่ส่งผลให้การส่งออกในปี 53 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูง นอกจากนั้น การใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน

สศค.ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญในช่วงที่เหลือของปีจากวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจส่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง และสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศ รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่อาจกระทบให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

ดังนั้น ภาครัฐจึงยังจำเป็นต้องฟื้นฟูการใช้จ่ายภายในประเทศให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก และสร้างสมดุลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี 53 ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูงถึง 11.9% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวดีกว่าที่คาด นอกจากนั้น การใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ 3.6% จากปีก่อนที่หดตัว 1.1% เนื่องจากการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ รายได้เกษตรกรอยู่ในระดับสูงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 10.2% จากปีก่อนที่หดตัวถึง 12.8% โดยได้แรงสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีโดยเฉพาะการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง คาดว่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาครัฐขยายตัวอยู่ที่ 5.1% และ 6.5% ตามลำดับ

ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 3.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-4.0% ตามราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่การต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาลจะช่วยให้แนวโน้มเงินเฟ้อลดลงจากที่คาดการณ์เดิม

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่ายังคงเกินดุลแต่จะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 2.7% ของ GDP เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมากจากฐานที่ต่ำในปีก่อนมาอยู่ที่ 36.6% เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่น่าจะขยายตัวอยู่ที่ 22.5%

"สรุปว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าโต 5.5% ประมาณการณ์ครั้งนี้เผื่อปัจจัยเสี่ยงไว้ 3 ประเด็น คือ เศรษฐกิจคู่ค้าในครึ่งปีหลังที่อาจจะไม่แน่นอนจากปัญหาหนี้ในยุโรป และผลกระทบทางการเมืองที่ผ่านมา โดยมองไปข้างหน้าว่าคงจะไม่มีอีกแล้ว และเรารวมผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งเราคาดการณ์ตรงกับ สศก.(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ที่คาดว่าผลกระทบจากภัยแล้งจะกระทบจีดีพี 0.2%" นายเอกนิติ กล่าว

*GDP ปี 53 อาจโตเกิน 6% หากครึ่งปีหลังศก.ฟื้น-การเมืองนิ่ง

นายเอกนิติ กล่าวว่า หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ GDP ทั้งปีอาจโตเกิน 6% โดยปัจจัยหลักคือการส่งออก ซึ่งคาดการณ์ล่าสุดประเมินว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 53 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 22.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 18% ทั้งนี้จากที่เงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นจะทำให้จีนมีกำลังซื้อสูงขึ้นตาม ซึ่งจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ดังนั้นจึงเชื่อว่าไทยจะได้รับอานิสงส์นี้

นอกจากนี้ หากสถานการณ์การเมืองในประเทศนิ่งก็จะมีส่วนทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่ปีก่อนติดลบ และได้ขยายตัวอย่างมากในไตรมาส 1/53

ส่วนเหตุผลที่ สศค.ปรับประมาณการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้เหลือ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 4% นั้น เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจะต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 53 และคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 78.5 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมที่คาดไว้ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจะช่วยทำให้เงินเฟ้อไม่สูงมาก

สศค.ยังประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 4/53 เป็น 1.50% จากระดับ 1.25% เพราะมองว่าในช่วงนั้นสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันต่ำเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ