ครม.รับทราบยุทธศาสตร์ระบายข้าวในสต็อก เน้นไม่กระทบราคา-ลดภาระรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 29, 2010 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้รับทราบการกำหนดยุทธศาสตร์การระบายข้าวตามโครงการแทรกแซงของรัฐบาล เพื่อให้การระบายข้าวมีความเหมาะสมและมีผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าภายในประเทศน้อยที่สุด รวมทั้งลดภาระของรัฐบาลในการจัดเก็บสต็อกข้าว

ปัจจุบันราคาข้าวของไทยปรับตัวสูงกว่ปาระเทศคู่แข่งมาก ประกอบกับ รัฐบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บและรักษาข้าวสารในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าคลังสินค้า ค่าประกันภัยและค่ารมยา เป็นต้น เป็นจำนวนที่สูงมาก โดยเฉพาะข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลมีปริมาณ 5 ล้านตัน ทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บและรักษาข้าวสารประมาณ 776 ล้านบาท/เดือน

ดังนั้น เพื่อให้รัฐบาลรับภาระการขาดทุนน้อยที่สุด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลก การระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลควรดำเนินการทั้งในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการตลาด

ตามยุทธศาสตร์กำหนดให้ต้องพิจารณาถึงความต้องการข้าวของตลาดประกอบการสั่งสีแปรสภาพข้าวเปลือกแทนการกำหนดปริมาณและเวลาสั่งสีข้าวเปลือกตายตัว ยกเว้นข้าวเปลือกนาปรังที่มีความชื้นสูง เช่น ข้าวเปลือกปทุมธานีห่กเก็บไว้นานเกิน 4 เดือน อาจจะมีปัญหาสีแปรสภาพได้ต้นข้าวน้อยลงและข้าวจะมีสีเหลือง จึงไม่ควรเก็บในรูปข้าวเปลือกนานเกินเวลาดังกล่าว

ส่วนการระบายข้าวสารควรพิจารณาประกอบกับการสั่งสีแปรสสภาพ เพื่อป้องกันปัญหาการนำข้าวสารจากการระบายมาหมุนเวียนส่งมอบแทนข้าวที่ถูกสั่งสีแปรสภาพ

การระบายข้าวเปลือกต้องพิจารณาเมื่อรับจำนำเต็มปริมาณที่กำหนดหรือสิ้นสุดเวลาในการรับจำนำแล้ว เพื่อป้องกันการหมุนเวียนข้าวเปลือกมาสวมสิทธิ์ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลต้องดำเนินการสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารก่อนการส่งออกไปต่างประเทศด้วย การวางแผนระบายข้าวสารและข้าวเปลือกในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมจะช่วยลดปัญหาการนำเข้าข้าวเก่าที่ซื้อจากสต็อกรัฐบาลมาหมุนเวียนส่งมอบแทนข้าวที่สั่งสีแปรสภาพ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพข้าวในสต็อก

นอกจากนี้ ควรเร่งรัดการระบายโดยเปิดกว้างให้ระบายทั้งเพื่อส่งออกต่างประเทศและจำหน่ายในประเทศ โดยคำนึงถึงสภาวะตลาดและระดับราคาที่เหมาะสม อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่สามารถเสนอซื้อข้าวได้อย่างทั่วถึง เพื่อสนองความต้องการของตลาด

แนวทางการระบายข้าวสามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง เช่น ขายในรูปแบบ G to G โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนดำเนินการปรับปรุงข้าวในสต็อกรัฐบาลเพื่อส่งมอบเนื่องจากภาคเอกชนจะมีกลไกที่มีความคล่องตัวในการดำเนินการและสามารถส่งมอบได้ตามเงื่อนไขของผู้ซื้อ หรือเปิดให้ผู้สนใจเสนอปริมาณและราคาที่ต้องการซื้อ โดยรัฐบาลมีเกณฑ์ราคาพื้นฐานในการตัดสินใจ ซึ่งจะต้องมีการต่อรองให้ได้ราคาสูงสุด ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นธรรมระหว่างรายเล็กและรายใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ