นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจไทยรายภูมิภาคไตรมาสแรกปี 53 ว่า เศรษฐกิจไทยรายภูมิภาคจะฟื้นตัวในไตรมาส 4 โดยเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวที่ 4.5%
แบ่งเป็น เศรษฐกิจภาคกลางรวมภาคตะวันออกขยายตัวสูงสุด 6-6.9% เพราะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าสำคัญเพื่อการส่งออก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย รองลงมาคือ เศรษฐกิจในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายตัว 4.2-4.8% เพราะเป็นแหล่งผลิตสินค้าของภาคการส่งออกเช่นกัน
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ขยายตัวใกล้เคียงกันที่ 3.5-4% โดยภูมิภาคเหล่านี้ยังต้องอาศัยภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงจากปัญหานักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางน้อยลง เพราะปัญหาหนี้วิกฤตการเงินที่เกิดในภูมิภาคยุโรป
"ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการในรายภูมิภาคยังมองว่าเป็นอุปสรรค อันดับแรก คือ ปัจจัยการเมือง รองลงมาคือ ปัญหาภัยแล้ง และราคาน้ำมันที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแล" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่จะขยายตัว 4.5-5.2% ว่า มีความเป็นไปได้แล้ว 80-90% ภายใต้สมมติฐาน คือ การส่งออกขยายตัว 15-20% อัตราเงินเฟ้อ 3-4% แต่หากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 6% จะต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันเพิ่งเบิกจ่ายเพียง 48.9% และดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองให้ได้ตามแผน เพราะขณะนี้ภาคลงทุน, ภาคการใช้จ่าย, การบริโภค และภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่มากนัก แต่ไทยยังไม่มีปลดคนงานหรือเลิกการจ้างงาน ซึ่งสะท้อนว่าโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็งอยู่