ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงเทียบดอลล์ เหตุวิตกสภาพคล่องในระบบการเงินยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 30, 2010 07:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะขาดสภาพคล่องในระบบการเงินของยุโรป อันเนื่องมาจากข่าวที่ว่าธนาคารพาณิชย์ในยุโรปต้องเร่งระดมเงินจำนวนมากเพื่อชำระคืนเงินกู้ฉุกเฉินให้กับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ภายในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากหน่วยงานของสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ร่วงลงเกินคาดในเดือนพ.ค.

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.71% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2190 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.2277 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินปอนด์อ่อนตัวลง 0.19% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5070 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5099 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.91% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 88.540 เยน จากระดับของวันจันทร์ที่ 89.350 เยน และดิ่งลง 0.54% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.0810 ฟรังค์ จากระดับ 1.0869 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 2.67% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8486 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 0.8719 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 2.13% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 0.6927 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7078 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนยังวิตกกังวลกับข่าวที่ว่าระบบการเงินของยุโรปกำลังขาดสภาพคล่องอยู่กว่า 1 แสนล้านยูโร เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในยุโรปต้องเร่งระดมเงินเพื่อชำระคืนเงินกู้ฉุกเฉินให้กับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มูลค่า 4.42 แสนล้านยูโร (5.455 แสนล้านดอลลาร์) ภายในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้สกุลเงินยูโรถูกเทขายอย่างหนัก

ธนาคารกลางยุโรปเปิดเผยว่า อัตราการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและภาคเอกชนในยุโรปขยายตัวเร็วขึ้นในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วขึ้นเช่นกัน โดยสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาคเอกชนขยายตัว 0.2% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากที่ขยายตัว 0.1% ในเดือนเมษายน ขณะที่ปริมาณเงิน M3 ซึ่งธนาคารกลางยุโรปใช้วัดอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ปรับลดลง 0.2% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่ากับในเดือนเมษายน

เศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งขึ้นและเงินยูโรที่อ่อนค่าลงกระตุ้นให้ต่างประเทศต้องการสินค้าจากยุโรปมากขึ้น ขณะเดียวกันวิกฤตหนี้สินก็กดดันให้รัฐบาล 16 ประเทศยูโรโซนลดงบประมาณใช้จ่ายลง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุโรป

ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M3 ในยุโรปลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M1 ขยายตัวช้าลงแตะ 10.3% จากเดิมที่ขยายตัว 10.7%

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ดรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.ของสหรัฐร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 52.9 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากเดือนพ.ค.ที่ระดับ 62.7 จุด

นอกจากนี้ สำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเม.ย.ของจีนขยับตัวขึ้นเพียง 0.3% ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 5 เดือน และน้อยกว่าเดือนมี.ค.ที่พุ่งขึ้น 1.7% ซึ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนผ่านพ้นจุดสูงสุงของการขยายตัวมาแล้ว

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนพ.ค. และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย. โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในวอลล์สตรีทคาดว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนมิ.ย.จะลดลง 110,000 ตำแหน่ง เนื่องจากการจ้างพนักงานชั่วคราวของภาครัฐในส่วนของงานสำมะโนประชากรมีแนวโน้มปรับตัวลดลง และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนมิ.ย.จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ