นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแนวคิดในการเปลี่ยนวิธีการทำลายของกลางให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดโลกร้อน รวมถึงส่งเสริมภาคเกษตรในการลดต้นทุน โดยนำยาสูบที่เป็นของกลางจากเดิมที่ทำลายโดยวิธีการเผา เปลี่ยนเป็นวิธีนำเอายาสูบของกลางมาเป็นส่วนผสมในการผลิตสารกำจัดศัตรูพืช (ชีวภาพ) เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตสารกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมีที่มีต้นทุนสูงกว่า ซึ่งวิธีดังกล่าวลดภาระค่าใช้จ่ายการทำลายของกลางกว่า 1 แสนบาทต่อครั้ง
รวมทั้ง เพื่อลดภาวะโลกร้อนจากการเผาของกลางยาสูบ ซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และสภาวะอากาศที่ผิดแปลกไป, เพื่อลดมลภาวะทางน้ำโดยนำก้นกรองของบุหรี่ใช้ในการกรองน้ำเสียจากครัวเรือนก่อนทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง พร้อมทั้งเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อมใช้ปลูกพืชไร้ดินด้วยระบบไฮโดรโปรนิคส์ (ใช้ก้นกรองแทนฟองน้ำ) และเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่กรมสรรพสามิตให้แก่ประชานทั่วไป
สำหรับการปราบปรามผู้ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ ในปี 2552 ที่ผ่านมาสามารถจับกุมของกลาง ได้จำนวน 909,024 ซอง โดยเป็นยาสูบในประเทศ จำนวน 520,503 ซอง และยาสูบต่างประเทศ จำนวน 388,521 ซองและคิดเป็นคดีกว่า 10,995 คดี ซึ่งมีมูลค่า 368,899,510.50 บาท รวมเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 36,889,951.05 บาท
และในปี 2553 ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2552 — พฤษภาคม 2553 สามารถจับกุมของกลางได้จำนวน 212,472 ซอง โดยเป็นยาสูบภายในประเทศ จำนวน 64,644 ซอง และเป็นยาสูบต่างประเทศ จำนวน 147,828 ซอง และคิดเป็นคดีกว่า 6,541 คดี ซึ่งมีมูลค่าเป็นจำนวน 138,965,167.28 บาท รวมเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 13,896,516.73 บาท
"ของกลางที่จับได้ในแต่ละปีนั้นมีปริมาณมาก และเมื่อสิ้นสุดคดีจะต้องนำของกลางมาทำลายโดยการเผา ซึ่งส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำลายยาสูบ โดยเฉลี่ยประมาณ 100,000 บาทต่อครั้ง และยังส่งผลกระทบให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย"นายอารีพงศ์ กล่าว