นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงถึงแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนผ่าน 4 มาตรการลดค่าครองชีพผ่านเฟซบุ๊คว่า มาตรการทั้งหมดมีผลดีต่อประชาขนที่มีรายได้น้อยในชนบทมากกว่าที่จะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองเท่านั้น
"คำตอบของผมคือผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ชนบท อย่างเช่นไฟฟ้าฟรีนั้นผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นครัวเรือนที่เป็นลูกค้าของ กฟน. เพียง 700,000ครัวเรือน และเป็นลูกค้าของ กฟภ. ถึง 8.5 ล้านครัวเรือน ส่วนรถไฟฟรีก็จะเป็นคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ที่ใช้บริการและ LPG มีผลต่อประชาชนทั่วประเทศ" นายกรณ์ กล่าว
อนึ่ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุดอนุมัติขยายเวลามาตรการลดค่าครองชีพ ทั้งค่าไฟ รถเมล์ รถไฟฟรี ไปถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งนายกรณ์ กล่าวว่า เป็นการเหลือประชาชนระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง และในอนาคตรัฐบาลก็จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงมาตรการตรึงราคาเหล่านี้ตามความเหมาะสม โดยรัฐบาลกำลังศึกษาอยู่ว่ามาตรการบางส่วนจะเป็นมาตรการระยะยาวหรือไม่ และควรปรับลดอย่างไร เพื่อให้เป็นมาตรการระยะยาวได้จริง
ในส่วนของค่าไฟฟ้าฟรี สำหรับผู้ที่ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือประชาชนระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึงประมาณ 60% ของผู้ใช้ไฟทั้งหมดหรือประมาณ 9 ล้านครัวเรือน ขณะที่รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี แม้จะไม่ได้ฟรีทุกสาย แต่ก็สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึงประมาณ 60-80% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด
ส่วนการตรึงราคา LPG นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า น่าจะเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดว่าการตรึงราคา LPG โดยรัฐจะเสียโอกาสในการส่งออก LPG เพราะราคาส่งออกจะสูงกว่าราคาขายในประเทศ แต่ตนเองเห็นว่าLPG เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศไทย และเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็นของภาคครัวเรือน ดังนั้น จึงเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือประชาชนโดยสิ่งที่สูญเสียจะเป็นเพียงโอกาสในการทำกำไรส่วนเพิ่มเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักๆ น่าจะการที่ประเทศไทยเริ่มจะต้องนำเข้า LPG ในราคาที่สูงกว่าราคาขายในประเทศ ซึ่งจะเป็นภาระแก่ประเทศหรือไม่นั้น นายกรณ์ กล่าวว่า การใช้ LPG ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการใช้โดยอุตสาหกรรมซึ่งท่านนายกฯ มอบนโยบายให้มีการแยกแยะให้ชัดเจนเพื่อในอนาคตรัฐบาลจะได้สามารถคิดราคาตลาดกับผู้ใช้รายใหญ่ได้