(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มิ.ย.53 เพิ่มขึ้น 3.3%, Core CPI เพิ่มขึ้น 1.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 1, 2010 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน มิ.ย.53 อยู่ที่ 108.15 เพิ่มขึ้น 3.3% จากเดือน มิ.ย.52 และเพิ่มขึ้น 0.26% จากเดือน พ.ค.53 ขณะที่ CPI ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.) ขยายตัว 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน มิ.ย.53 อยู่ที่ระดับ 103.63 เพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน มิ.ย.52 และเพิ่มขึ้น 0.12% จากเดือน พ.ค.53 ขณะที่ Core CPI ช่วง 6 เดือนแรก ขยายตัว 0.7%

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มิ.ย.53 อยู่ที่ 123.53 เพิ่มขึ้น 6.1% จากเดือน มิ.ย.52 และเพิ่มขึ้น 1.01% จากเดือน พ.ค.53 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 98.71 เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือน มิ.ย.52 แต่ลดลง 0.19% จากเดือน พ.ค.53

"ดัชนีราคาผู้บริโภคบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เริ่มกลับสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนทั้งปียังคงคาดเงินเฟ้อ 3.0-3.5%"นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการแถลงข่าว

เนื่องจากสถานการณ์ยังอยู่ภายใต้สมมติฐานที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ คือ ราคาน้ำมันดิบดูไบยังเฉลี่ยในช่วง 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31-33 บาท/ดอลลาร์ รัฐบาลยังคงขยายอายุมาตรการการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิดถือว่ามีส่วนช่วยให้ค่าครองชีพของประชาชนอยู่ในภาวะที่แสดงถึงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ มาตรการในการตรึงราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยควบคุมให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 53 สูงขึ้น 0.26% จากเดือนพ.ค. 53 เนื่องจากเป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวในอัตราที่สูงขึ้น โดยมีผลกระทบมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ ราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น เช่นผักสดผลไม้ ไข่ไก่ อาหารทะเล อาหารสำเร็จรูป และ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงได้แก่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มอ่อนตัว

อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้น 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง สาเหตุสำคัญมาจาการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 6.1% จากดัชนีของสินค้าในหมวดข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง สัตว์น้ำ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ ในขณะที่ได้รับผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 1.5% เช่น หมวดยานพาหนะ หมวดเคหะสถาน การขนส่งและกรสื่อสาร และการบันเทิง เป็นต้น

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง นายยรรยง กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 3% ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3.5% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3.0-3.5%

"เราจะไม่ปรับเป้าเงินเฟ้อจากที่คาดไว้ 3.0-3.5% ซึ่งถือเป็นแหล่งเดียวที่จะไม่ปรับขึ้น แม้หน่วยงานอื่นๆ จะมีการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ เช่น สศค." ปลัดพาณิชย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ