นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า การประชุมตามความร่วมมือขององค์กรทางด้านกิจการไฟฟ้าของอาเซียน( HAPUA) ที่ประกอบด้วยองค์กรจาก 10 ประเทศในอาเซียน คือ บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-2 ก.ค.53 เพื่อร่วมกันจัดตั้งโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศในอาเซียน( ASEAN Power Grid ) หรือ APG เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกันในรูปของไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
โดย กฟผ.ได้เป็นประธานคณะทำงานการศึกษาแผนแม่บทครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 80% และคาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมในครั้งต่อไปที่ประเทศเวียดนาม เพื่อพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ
ทั้งนี้ภายใต้โครงการดังกล่าวประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนการเชื่อมโยงระบบสายส่งระหว่างกัน 15 โครงการ โดยในจำนวนนี้ก่อสร้างและมีการดำเนินการแล้ว 6 โครงการ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการศึกษา
อย่างไรก็ดี ในการประชุม HAPUA Council ในวันพรุ่งนี้ จะมีการเสนอแผนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าโครงการใหม่ เป็นโครงการที่ 16 คือ โครงการ Singapore — Sumatra ซึ่งหากที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบก็จะเพิ่มเป็น 16 โครงการ แต่หากไม่ได้รับความเห็นชอบตามแผนก็จะมี 15 โครงการเท่าเดิม นอกจากนี้ ในการประชุมก็จะมีการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะก่อสร้างตามกำหนดเดิมหรือไม่
สำหรับการประชุม HAPUA ครั้งที่ 14 ที่ผ่านมาเมื่อ 2 ปีก่อน มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติแค่ 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินลงทุนใหม่จะปรับเพิ่มขึ้นมาก เพราะมีโครงการใหม่เพิ่มเข้ามาเป็น 15 โครงการ และค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาก
ในการประชุม HAPUA ครั้งที่ 16 กฟผ.ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานในการศึกษาแผนแม่บทการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าในอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานของ ASEAN Power Grid และศึกษาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อแนวทางในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในอนาคต การศึกษาครั้งนี้ยึดหลักความมั่นคงของระบบการใช้แหล่งทรัพยากรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษานี้คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอแผนต่อที่ประชุมอาเซียนที่ประเทศเวียดนามได้ในปลายปีนี้
โดยในเบื้องต้นพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทั้งหมดในปี 2025 อยู่ที่ 213,804 เมกะวัตต์ หากมีการเชื่อมโยงระบบทั้งหมดจะใช้ไฟฟ้าลดลงเหลือ 189,098 เมกะวัตต์ มีการศึกษาว่าหากแต่ละประเทศก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนจะต้องก่อสร้างทั้งหมด 254,992 เมกะวัตต์ แต่หากมีการเชื่อมโยงระบบจะลดการก่อสร้างเหลือ 252,979 เมกะวัตต์ โดยลดไปได้ 2,013 เมกะวัตต์ โดยจะลดเงินลงทุนไปได้ 788 ล้านเหรียญสหรัฐ แผนนี้ยังแบ่งเป็นการซื้อไฟฟ้าทางตรงอย่างเดียวระหว่างประเทศอาเซียนจำนวน 19,576 เมกะวัตต์ และเป็นการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างกัน 3,000 เมกะวัตต์
ในส่วนของประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากที่สุดหากมีการเชื่อมโยงระบบส่งกัน เพราะพื้นที่ตั้งเป็นยุทธศาสตร์คืออยู่ตรงกลางระหว่างประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงของการจัดหาไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนในประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือต้องเลื่อนโครงการออกไป ก็สามารถที่จะซื้อไฟฟ้าจากประเทศอื่นผ่านสายส่งไฟฟ้าได้
หากโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพี 4 ราย คือ บริษัทสยามเอนเนอร์ยี่ หรือโรงไฟฟ้าบางคล้า, บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จ.ฉะเชิงเทรา, บริษัท เกกโก้วัน ที่มาบตาพุด จ.ระยอง, บริษัท เพาเวอร์เจเนอร์เรชั่น ซัพพลาย อ.หนองแค จ.สระบุรี ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าระยะยาวในช่วงปี 2557-2573 ได้หรือเกิดขึ้นช้ากว่าแผน 1-2 ปี จะส่งผลให้ใน 5-6 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะขณะนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าทั้งประเทศลดเหลือ 10% ขณะที่การกอสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเกิดขึ้นได้ยาก
ซึ่งไทยเหลือเพียง 2 ทางเลือก คือ การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานน้ำ แต่หาก 2 อย่างนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ รัฐบาลก็เตรียมพร้อมในการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน แต่ก็ยังมีความเสี่ยง หากเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน อาจทำให้เกิดการหยุดส่งไฟฟ้ามายังประเทศไทยได้