แนวโน้มส่งออกยาง H2/53 ชะลอท่ามกลางความไม่แน่นอนศก.โลก-ราคาข้าวผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 2, 2010 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกสมาคมยางพาราไทย มองราคายางในช่วงครึ่งหลังปี 53 มีโอกาสพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยแตะจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 132 บาท/กก.เมื่อเดือน พ.ค.53 ตามความต้องการตลาดโลกฟื้นตัว แต่ปัญหาทางฝั่งยุโรปและทางจีนคาดว่า 1-2 เดือนจากนี้จะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาคงต้องเน้นหาตลาดใหม่มาทดแทน

ขณะที่นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว ระบุว่าการส่งออกได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาเช่นกัน ประกอบกับยังมีปัจจัยเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามอีกด้วย แนวโน้มราคายังผันผวน

*ส.ยางพารา กังวลปัญหาอียูกระทบส่งออกใน H2/53

นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกไทยยังสามารถส่งออกยางไปทางยุโรป และจีนได้ตามปกติ ภาพรวมเดือน ม.ค.-พ.ค.53 จีนนำเข้ายางเพิ่มขึ้น 3.5% เพิ่งเริ่มชะลอตัวในเดือน มิ.ย.หลังจากสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจฝั่งอียูและจีนส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น ทำให้เป็นห่วงครึ่งปีหลังว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาจีนนำเข้ายางธรรมชาติลดลง 35% เมื่อเทียบกับ พ.ค.52 และลดลงเมื่อเทียบกับ เม.ย.53 คาดว่าในเดือน มิ.ย.53 คงจะลดลงต่อเนื่อง

"ห่วงว่าครึ่งปีหลังภาพอาจจะเปลี่ยนจากครึ่งปีแรกแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงแต่ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ในตอนนี้ คาดว่าหลัง ก.ค.53 น่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น...ครึ่งปีหลังนี้เรายังติดตามปัญหาของทางอียูอยู่ว่าจะเป็นยังไง ถ้าอียูมีปัญหาก็อาจจะทำให้ไม่เท่าครึ่งปีแรก ถ้าล้มละลายหมดก็คงจะมีผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทย"นายหลักชัย กล่าว

นายหลักชัย กล่าวว่า เพื่อเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดการส่งออกยางพาราของไทยในตลาดโลก ไทยจำเป็นต้องมองหาตลาดอื่นมาทดแทนตลาดอียูและจีน โดยจะหันไปเน้นตลาดสหรัฐและที่อื่นๆ รวมถึงการหาตลาดใหม่ๆ มาทดแทน

จากผลกระทบดังกล่าวทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกยางในครึ่งปีหลังคงจะไม่ดีอย่างครึ่งปีแรก หมายความว่าความต้องการใช้ยังมีอยู่ แต่คงเป็นการชะลอการใช้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากสาเหตุมาจากราคายางแพงด้วย

สำหรับทิศทางราคายางในครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตของประเทศผู้ส่งออกหลักทั้งไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ราคาก็คงจะปรับตัวลดลงบ้าง แต่คงจะไม่ไหลลงต่ำไปแตะระดับ 40-50 บาท/กก.เหมือนปีที่แล้ว ขณะเดียวกันก็คงไม่ได้เห็นไต่ขึ้นไปสูงทะลุ 130 ไปที่ 132 บาท/กก.เมื่อตอน พ.ค.53 อีกแล้ว เพราะช่วง peak ของราคายางผ่านไปแล้ว และถ้าสถานการณ์ความต้องการในตลาดโลกยังเป็นแบบนี้ยิ่งทำให้โอกาสที่จะได้เห็นราคาถีบตัวขึ้นไปสูงๆยิ่งเป็นไปได้ยาก

"ยอมรับว่าทิศทางราคายางในครึ่งปีหลังดูยาก ขึ้นอยู่กับปริมาณของทั้งของไทย อินโดฯ มาเล แต่ยังมั่นใจว่าราคายางเฉลี่ยน่าจะอยู่แถวๆระดับ 80-90 บาท/กก."นายหลักชัย กล่าว

ปัจจุบัน ไทยยังครองเจ้าตลาดส่งออกยางพารา โดยครองส่วนแบ่งตลาด 35% แม้ว่าราคาจะแพงกว่าคู่แข่งประมาณ 20%(ยางแผ่นรมควัน)รองลงมาคือ อินโดนีเซีย มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 20% และมาเลเซีย 10 กว่า% และคิดว่าไทยจะยังรักษาความเป็นเจ้าตลาดได้อีกนาน เนื่องจากรัฐบาลจะเพิ่มพื้นที่ปลูกยางอีกกว่า 8 แสนไร่ในแถบภาคอีสานและภาคเหนือเริ่มในปีหน้าและจะเห็นผลผลิตอีก 7 ปีข้างหน้า

*แนวโน้มราคาข้าว H2/53 อาจทรงตัวหรือผันผวนเล็กน้อยขึ้นกับปัจจัย

นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า สมาคมฯได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกข้าวในปีนี้เหลือ 8.5 ล้านตัน จากเดิมที่คาดว่าจะส่งออกได้ถึง 9-10 ล้านตัน เป็นผลมาจากรายงานตัวเลขการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีออกมาไม่ดี โดยส่งออกข้าวได้เพียงประมาณ 3 ล้านตัน ลดลงจากช่วง 5 เดือนแรกของปีก่อน 5% เป็นผลมาจากตลาดโลกซบเซา

ความจริงราคา FOB ของเราลดลงมามากแล้ว จากกว่า 500-600 เหรียญสหรัฐ/ตันในช่วงต้นปี 53 ลดลงมาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดเดือน พ.ค.53 ราคาลงมาอยู่ที่ราว 400 เหรียญสหรัฐ/ตัน (สำหรับข้าวขาว 5%) เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อและเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปไม่ค่อยดีนัก

"เฉพาะไตรมาส 2/53 ที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกข้าวมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียงเดือนละ 600,000 ตัน จากที่ไทยเคยส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 700,000 ตัน ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะส่งออกได้แค่ 3-4 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมาย 11%" นางกอบสุข กล่าว

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า ส่วนเรื่องค่าเงินบาทแม้จะไม่ได้แข็งค่ามากนัก แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม ถือว่าเงินบาทแข็งค่ากว่าเงินดองมาก และสถานการณ์ส่งออกข้าวปีนี้ต้องยอมรับว่าเวียดนามอาจจะดีกว่าเรามาก คาดว่าปีนี้เวียดนามคงจะรักษาตัวเลขการส่งออกข้าวได้ใกล้เคียงปีที่แล้วที่ประมาณ 6 ล้านตัน ขณะที่ไทยลดลง

ด้านผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าว กล่าวถึงทิศทางราคาข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทรงตัวหรือไม่ก็ผันผวนขึ้นลงเล็กน้อย แต่ก็จะยังอยู่ในกรอบ 500-600 เหรียญสหรัฐ/ตันสำหรับข้าวขาว 5% และอาจจะมีโอกาสขยับขึ้นลงได้บ้างตามปัจจัยรอบด้าน เนื่องจากราคาข้าวอยู่ในภาวะขาลงติดต่อกันมาหลายเดือน ซึ่งมองว่าน่าจะลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว

แต่เริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนราคาข้าว คือ มีความต้องการซื้อข้าวไทยจากต่างประเทศ โดยล่าสุดคือเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศอิรักส่งผู้แทนมาเจรจากับรัฐบาลไทยขอซื้อข้าวขาว 5% แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เดือนละ 100,000 ตัน เป็นเวลา 2 ปี นอกจากนี้รัฐบาลอิรักยังจะเจรจาซื้อข้าวจากภาคเอกชนของไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้าวในสต็อกของรัฐบาลยังมีอยู่มาก ประกอบกับข้าวไทยยังมีราคาแพงกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม น่าจะยังกดดันราคาข้าวไทยอยู่ไม่น้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ