สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เตรียมออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)ใน 4 เส้นทาง มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนสรุปความเป็นไปได้ในการลงทุนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือน ก.ย.นี้
"จะส่งหนังสือเชิญนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญการเดินรถไฟความเร็วสูง เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส มารับฟังแนวคิดของเราเกี่ยวกับการลงทุนรถไฟความเร็วสูง และให้เขาแสดงความเห็นว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความจำนงชัดเจนด้วยว่าจะเปิดโอกาสให้เข้าร่วมลงทุนด้วยคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการหารือกัน" น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้อำนวยการ สคร.กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวคิดที่จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวในระยะแรก 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 2.เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย 3.เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ และ 4.เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง
การลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย 1.เส้นทางการเดินรถ จะใช้เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) 2.ระบบรางรัฐจะลงทุนเอง 3.การเดินรถและระบบบริหารจัดการจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยรัฐร่วมลงทุนด้วยอาจจะมีสัดส่วน 50:50 หรือ 70:30 โดย สคร.มีหน้าที่กำหนดขอบเขตการลงทุนแล้วเชิญภาคเอกชนมาแสดงความคิดเห็นว่าควรทำหรือไม่ เมื่อโครงการเป็นรูปเป็นร่างแล้ว หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการก็ต้องเดินหน้าต่อ เช่น จัดให้มีการประมูล เป็นต้น
สคร.ประเมินผลตอบแทนการลงทุน 4 โครงการในเบื้องต้นดังนี้ 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 2.09 แสนล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 14.55% 2.เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 1.8 แสนล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 19.08% 3.เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ระยะทาง 937 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 2.34 แสนล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 19.23% และ 4.เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 5.66 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 15.40%
"เม็ดเงินลงทุนและผลตอบแทนการลงทุนเป็นเพียงการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ สคร.ต้องฟังเสียงจากภาคเอกชนว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเท่าใด ผลตอบแทนและความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นอย่างไร" น.ส.สุภา กล่าว