บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การส่งออกข้าวในปี 2553 นั้น คาดว่าอาจมียอดรวมประมาณ 8.0-8.5 ล้านตัน ลดลงจาก 9.5 ล้านตัน ที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี เทียบกับ 8.62 ล้านตันในปี 2552
ทั้งนี้ สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยเริ่มมีปัญหาชัดขึ้น หลังจากปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในเดือนเมษายนต่ำกว่าเวียดนาม และในเดือนพฤษภาคม 2553 ก็ยังคงต่ำกว่าเวียดนามต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การส่งออกข้าวของไทย เนื่องจากราคาข้าวของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำกว่าไทยอย่างมาก จากที่ในช่วงปลายปี 2552 ส่วนต่างระหว่างราคาข้าวไทยและเวียดนามขยับเข้ามาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ปริมาณส่งออกข้าวมีแนวโน้มช่วงไตรมาสที่ 2 เหลือเพียงเดือนละ 600,000 ตัน จากที่ไทยเคยส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 700,000 ตัน ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งแรกจะส่งออกได้เพียง 4 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 11.0
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 มูลค่าการส่งออกข้าวเท่ากับ 2,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 แม้ว่าการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้จะประสบปัญหา แต่ตลาดส่งออกที่ช่วยประคองสถานการณ์การส่งออกข้าว ได้แก่ ฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ จากการชดเชยการที่ฟิลิปปินส์ไม่ปรับลดภาษีนำเข้าข้าวตามกรอบข้อตกลงอาฟตา ส่วนเบนินเพิ่มการนำเข้าข้าวนึ่งจากไทยเพื่อส่งออกไปยังไนจีเรียอีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออกข้าวนึ่งจากไทยไปไนจีเรียเผชิญอัตราภาษีนำเข้าในเกณฑ์สูง กอปรกับมูลค่าการส่งออกข้าวในปี 2552 นั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน จากการที่ไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม ที่ใช้กลยุทธ์ราคาแย่งชิงตลาดส่งออกข้าวจากไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สาเหตุที่ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง เป็นผลมาจากตลาดโลกยังไม่มีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศหันไปบริโภคสินค้าชนิดอื่นทดแทนข้าว เพื่อที่จะชะลอการนำเข้าข้าว เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคยุโรป ทำให้ประเทศในแถบแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของไทยที่ใช้เงินยูโรในการค้า ชะลอการนำเข้า เนื่องจากเมื่อเงินยูโรอ่อนค่า ทำให้ราคาข้าวไทยแพงขึ้นในสายตาผู้นำเข้าในแอฟริกา
ในด้านราคาข้าวส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวขาว 5% ราคาเอฟโอบีในเดือนพฤษภาคม 2553 ลดลงเหลือ 400 ดอลลาร์/ตัน จากที่เคยอยู่ในระดับ 600 ดอลลาร์/ตันในช่วงปลายปี 2552 เนื่องจากเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากเวียดนาม โดยการลดค่าเงินด่องของเวียดนามที่ส่งผลให้ราคาข้าวของเวียดนามมีแนวโน้มลดลง และเวียดนามประมูลข้าวส่งออกไปตลาดฟิลิปปินส์ทั้งหมด ในขณะที่ไทยส่งออกฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้นจากการชดเชยความเสียหายที่ฟิลิปปินส์ไม่ได้ปรับลดภาษีนำเข้าข้าวตามข้อตกลงอาฟตา
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2553 เวียดนามยังจะสามารถรักษาปริมาณการส่งออกข้าวได้ใกล้เคียงกับปี 2552 ที่ระดับเกือบ 6 ล้านตัน ส่วนไทยนั้นยังไม่มีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ที่จะช่วยดึงราคาข้าวของไทยให้สูงขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าภาวะการส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปี 2553 ยังไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น นอกจากจะมีการระบายสต็อกของรัฐบาลเพื่อการส่งออกทั้งในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล และการเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกประมูลข้าวในสต็อกเพื่อการส่งออก ซึ่งน่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ แต่คาดว่าจะส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาข้าวของเวียดนาม ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2553 กล่าวคือ ราคาข้าว5%ของเวียดนามเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 365 ดอลลาร์/ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ซึ่งส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างราคาข้าวไทยและเวียดนามแคบลงเหลือ 88 ดอลลาร์/ตัน จากที่เคยอยู่ในระดับ 126.1 ดอลลาร์/ตัน ในเดือนเมษายน 2553 คาดว่าราคาข้าวส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะอยู่ในระดับทรงตัว แต่จะกระเตื้องขึ้นได้ถ้ามีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่เข้ามา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ ผลกระทบของปัญหาฝนทิ้งช่วงที่ทำให้รัฐบาลขอความร่วมมือชาวนาให้เลื่อนการปลูกข้าวนาปีไปอีก 1 เดือนเป็นเดือนกรกฎาคมนั้นจะส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่ตลาดมากน้อยเพียงใด และนโยบายการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลที่อยู่ในระดับ 6 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์สูงเป็นประวัติการณ์ โดยปริมาณสต็อกข้าวนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาข้าวส่งออกของไทย นอกจากนี้ ปัญหาฝนทิ้งช่วงในประเทศไทยซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตข้าว ก็ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับประเทศผู้นำเข้าข้าว เนื่องจากสต็อกที่อยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนในตลาดต่างประเทศต้องติดตามสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจสร้างความเสียหายให้กับทั้งประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้าข้าว ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่คาดว่าจะกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง ซึ่งน่าจะมีประกาศอย่างเป็นทางการหลังเดือนกันยายน 2553 ทำให้การส่งออกข้าวของไทยที่เข้าไปแทนที่อินเดีย ทั้งในตลาดแอฟริกาและตะวันออกกลางจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
*ปี 54 ส่งออกข้าวไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกในปี 2553/54 คาดการณ์ไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงต่อไป ทั้งด้านปริมาณผลผลิต กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวของโลกในปี 2553/54 เพิ่มขึ้นเป็น 459.4 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 4.0 จากการคาดการณ์ว่าปรากฎการณ์เอลนิโญที่ไม่รุนแรงมากนักส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวในตลาดโลกไม่มากนัก รวมทั้งการคาดการณ์ถึงภาวะมรสุมที่อยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณการผลิตข้าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในอินเดีย และฟิลิปปินส์ กล่าวคือ ปริมาณการผลิตข้าวของอินเดียจะกลับมาอยู่ในระดับ 99.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปริมาณการผลิตข้าวของฟิลิปปินส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 10.8 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดการณ์ว่าประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญของโลก 10 อันดับแรกมีปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีน
นอกจากนี้ คาดว่าประเด็นที่จะต้องติดตาม คือ อินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวขาวในปี 2554 หรือไม่ ส่วนสหรัฐฯคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2554 ไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากอินเดียและสหรํฐฯ การนำเข้าข้าวของทั้งฟิลิปปินส์และจีนจะไม่ใช่ปัจจัยในการผลักดันตลาดข้าวในปี 2553 เนื่องจากปริมาณการผลิตข้าวของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศต่างๆ
ด้านปริมาณการค้า คาดการณ์ว่าในปี 2554 ปริมาณการค้าข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 31.4 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยเฉพาะการส่งออกข้าวของสหรัฐฯ อินเดีย และปากีสถาน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการแข่งขันในการส่งออกข้าวในปี 2554 มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยสหรัฐฯจะเข้ามาแข่งขันในตลาดที่บริโภคข้าวเมล็ดยาวของไทย และไทยก็ยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามเช่นเดิม ส่วนอินเดียและปากีสถานมีแนวโน้มจะดึงตลาดข้าวนึ่งในแอฟริกาและตะวันออกกลางกลับไป
ส่วนประเทศที่เป็นผู้นำเข้าข้าวสำคัญของโลก ในปี 2554 ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับหนึ่ง แต่คาดว่าปริมาณการนำเข้าลดลงอันเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับไนจีเรียมีแนวโน้มนำเข้าข้าวมากขึ้นในปี 2554 และจะกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับสองของโลก แต่ปริมาณการนำเข้ายังน้อยกว่าในปี 2552 ประเทศที่น่าจับตามอง คือ อิหร่านและซาอุดิอาระเบีย ที่คาดว่าจะมีปริมาณการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น
สต็อกปลายปี คาดว่าปริมาณสต็อกข้าวปลายปี 2554 เพิ่มขึ้น เป็น 96.3 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.0 ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์สูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2546 โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนของปริมาณการใช้ต่อปริมาณสต็อก(Stocks-to-use) อยู่ในระดับร้อยละ 21.3 เท่านั้น เท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณสต็อกข้าวที่อยู่ในเกณฑ์สูง กอปรกับการแข่งขันในการค้าข้าวในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาข้าวทั้งในตลาดโลก และตลาดในประเทศ