(เพิ่มเติม) ฟิทช์เชื่อผลการดำเนินงานของธนาคารไทยยังแข็งแกร่ง แต่แนวโน้มยังมีปัจจัยเสี่ยง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 6, 2010 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุในรายงานฉบับพิเศษว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารต่างๆของไทยยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สร้างความกระทบกระเทือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนักวิเคราะห์อาวุโสในส่วนสถาบันการเงินของฟิทช์ กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านการดำเนินการที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ผันผวนทางการเมืองที่ยืดเยื้อในประเทศ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร การขยายตัวของเงินกู้ และคุณภาพสินทรัพย์ในระยะกลาง อย่างไรก็ดี เงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งน่าจะมีส่วนช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาประสิทธิภาพการดำเนินการโดยรวมในปีนี้ได้

มิลตันกล่าวต่อไปว่า “ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) น่าจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY (‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) มีผลการดำเนินงานที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเช่นกัน ในขณะที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB (‘BBB-’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ยังคงมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของ TMB ได้เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นและคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553"

รายงานฉบับพิเศษเรื่อง “Thai Banks: 2009 and Q110 Review and Outlook — Resilient, But Risks to Outlook Remain" ระบุว่า แม้แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้น แต่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมคาดว่าจะยังคงอ่อนแอ อีกทั้งความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงในธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมค้าปลีก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค น่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมดังกล่าวหยุดชะงักจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษนั้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2551 จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเพิ่มขึ้นในปี 2553 อย่างไรก็ตามเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 12% และ 16% ตามลำดับ น่าจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตขึ้นเล็กน้อยในปี 2553 ทั้งนี้ฟิทช์ได้ประมาณการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2553 ไว้ที่ 3.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ