กระทรวงคมนาคมสนับสนุนแนวคิดในการสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าที่ อ.เชียงแสน และเชียงของ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ คาดใช้เงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างในปี 2555 หวังรับสินค้าจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน
"พื้นที่ภาคเหนือถือเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เนื่องจากภูมิประเทศสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและ 6 มณฑลของจีนตอนใต้ที่ไทยสามารถใช้เป็นประตูในการขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันในปี 2554 ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ การพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านี้ก็จะช่วยรองรับการขนส่งสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งของท่าเรือเชียงแสนด้วย" นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่องการศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดและการบริหารจัดการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าที่ อ.เชียงแสน และเชียงของ จ.เชียงราย
ด้านนายจุฬา สุขมานพ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ในระยะแรกจะต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าที่เชียงของก่อน เนื่องจากศูนย์ฯดังกล่าวจะสามารถรองรับการขนส่งทางถนนจากประเทศเพื่อนบ้านในปริมาณที่มากกว่าที่เชียงแสน ขณะเดียวกันที่เชียงแสนนั้นเมื่อท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2555 ก็จะมีศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าบริเวณท่าเรือ ซึ่งสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าที่เชียงของนั้นจะมีพื้นที่ประมาณ 280 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,523 ล้านบาท โดยจะแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 วงเงิน 1,451 ล้านบาท และระยะที่ 2 วงเงิน 850 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ภายในปี 2555 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยศูนย์นี้จะรองรับการขนส่งทางถนนและรถไฟ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีแผนจะขยายเส้นทางรถไฟจาก อ.เด่นชัย ขึ้นไปรองรับสินค้าที่ศูนย์ดังกล่าว
"เบื้องต้นมีการประมาณการประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ เฉพาะผลประโยชน์ทางตรงมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 17.6% ซึ่งในปี 2570 จะมีสินค้าขนส่งผ่านจุดดังกล่าวปีละ 2 ล้านตัน เป็นสินค้าไทยกับจีน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนสินค้าจะเป็นผลไม้ ผัก และสินค้าวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ" นายจุฬา กล่าว