สศอ.เผยไทยประหยัดภาษีกว่า 8.5 หมื่นลบ.ในปี 51 หลังทำ FTA กับคู่ค้าหลายปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยผลการศึกษา “การใช้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ของไทย” สศอ.ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่าปัจจุบันไทยได้ลงนามทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้าหลายประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และโครงการเก็บเกี่ยวล่วงหน้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) พบว่า ในภาพรวมส่งผลต่อการขยายตัวการค้าระหว่างกันมากขึ้นและทั้งภาคส่งออกและภาคนำเข้าไทยมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จาก FTA เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยปี 2552 มูลค่าส่งออกจากไทยไปประเทศคู่ค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปทุกประเทศทั่วโลก ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าของไทยจากคู่ค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

ในปี 2551 สินค้าส่งออกไทยมีราคาลดลงจากการประหยัดภาษีศุลกากรได้ 85,633 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.44 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศที่มีความตกลง FTA กัน

ทั้งนี้ ความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (52,381 ล้านบาท) และความตกลง JTEPA (8,479 ล้านบาท) ในขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าไทยสามารถประหยัดภาษีศุลกากรได้ 27,230 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.94 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศที่มีความตกลง FTA กัน โดยความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (18,177 ล้านบาท) และความตกลง ACFTA (7,539 ล้านบาท)

เมื่อพิจารณาในรายสาขาอุตสาหกรรม พบว่า ผู้นำเข้าไทยส่วนใหญ่เกือบทุกสาขามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA หลายฉบับในระดับต่ำจนถึงปานกลาง ยกเว้นเพียงอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก AFTA ACFTA TAFTA และ TIFTA ในระดับสูง ตัวอย่างสาขาอุตสาหกรรมหลักที่มีอัตราการใช้ประโยชน์ในระดับต่ำ เช่น เคมีภัณฑ์และชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ JTEPA เครื่องหนังและรองเท้าภายใต้ ACFTA อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล ภายใต้ ACFTA และ JTEPA ในด้านภาคส่งออกไทย

ผู้ประกอบการไทยหลายสาขามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA หลายฉบับในระดับปานกลางจนถึงสูง อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอีกบางสาขาที่ยังใช้ประโยชน์จาก FTA ไม่เต็มที่ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอภายใต้ ACFTA และ AFTA อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้ JTEPA และ ACFTA อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลภายใต้ ACFTA และ TAFTA อุตสาหกรรมเหล็กภายใต้ AFTA เป็นต้น

เมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า สินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยบางรายการยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้ เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อย่างน้อย 3 ด้าน คือ ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการเจรจา FTA เช่น สินค้าอยู่นอกรายการลดภาษีหรืออยู่ในรายการสินค้าที่มีความอ่อนไหว สินค้าที่ได้รับสิทธิแต่ถูกจำกัดโควต้า สินค้าได้รับแต้มต่อด้านภาษีศุลกากรไม่จูงใจพอเมื่อเทียบกับต้นทุนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ภายใต้ FTA และสินค้าไม่สามารถปฎิบัติได้ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินการตาม FTA เช่น ผู้ประกอบการขาดความตระหนักถึงประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอัตราภาษีภายใต้ FTA และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ผู้ประกอบการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอใช้ประโยชน์ การตีความพิกัดศุลกากรของสินค้าแตกต่างกัน เวลาในการเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องนานเกินไปและไม่สอดคล้องกัน การไม่ยอมรับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า(C/O) ที่ออกโดยประเทศที่สามกรณีความตกลง ACFTA และ TIFTA

และ ปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการยังแข่งขันด้านราคาสู้กับคู่แข่ง เช่น จีนและเวียดนามไม่ได้แม้จะได้รับแต้มต่อจาก FTA แล้วก็ตาม ตลอดจนยังมีมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรม

จากการประมาณการพบว่า หากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้รับการแก้ไข ผลประโยชน์ที่ภาคเอกชนไทยจะได้รับจาก FTA จะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกมาก โดยหากทำให้อัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงขึ้นเต็มร้อยละ 100 โดยที่ยังไม่ได้เจรจาเพื่อขยายความครอบคลุมและแต้มต่อ ประโยชน์ที่สินค้าส่งออกไทยจะได้รับจากการประหยัดภาษีศุลกากรจะเพิ่มจากประมาณ 68,704 ล้านบาทเป็นประมาณ 136,951 ล้านบาท ในขณะที่ประโยชน์ที่ผู้นำเข้าไทยจะได้รับจะเพิ่มจากประมาณ 33,250 ล้านบาท เป็นประมาณ 83,920 ล้านบาท

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วอย่างสูงสุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ