กระทรวงเกษตรฯ เร่งประสานกรมการค้าต่างประเทศ คลอดมาตรการปกป้องพิเศษกันสินค้าเกษตรจากต่างประเทศทะลักเข้าไทยหวั่นกระทบราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ หลัง 5 เดือนตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นมากจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมความพร้อมในการใช้มาตรการปกป้องพิเศษของความตกลงว่าด้วยการเกษตร หรือ SSG ภายใต้การเปิดเสรีการค้าอาเซียน โดยในส่วนของการเตรียมความพร้อมการใช้มาตรการปกป้องพิเศษนั้น ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้มีพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 ซึ่งใช้ได้กับกรณีปกป้องแบบธรรมดาเท่านั้นแต่ไม่รวมการปกป้องพิเศษ
ดังนั้น การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตาม เฝ้าระวังและเตรียมตัวเลขที่ได้คำนวณหาค่าเกณฑ์ปริมาณและราคานำเข้าไว้แล้ว กระทรวงเกษตรฯ ก็จะประสานข้อมูลดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานกรมการค้าต่างประเทศเพื่อพิจารณาเร่งรัดการพิจารณาออกประกาศหรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับมาตรการปกป้องพิเศษต่อไป เพื่อเป็นการปกป้องผลผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากสินค้าจากประเทศอื่นที่ทะลักเข้ามาจนผิดปกติ
ทั้งนี้ จากการที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ได้ติดตามสถิติการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรภายหลังการเปิดเสรีการค้าอาเซียน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553 พบว่า มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียนคิดเป็นจำนวน 99,394 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการค้าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 54.90% แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออก 81,729 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 17,665 ล้านบาท
โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 64,064 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มสินค้าที่ไทยขยายการส่งออกมากขึ้น เช่น ข้าวและธัญพืช มีมูลค่าการส่งออกจำนวน 15,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104 % ผลิตภัณฑ์แป้งจากธัญพืช มีมูลค่าการส่งออกจำนวน 5,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257% กลุ่มน้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล มีมูลค่าการส่งออกจำนวน 26,775 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 185% สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีการขยายการนำเข้ามากขึ้น เช่น กลุ่มสินค้านม ไขมัน น้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น
สำหรับหลักการใช้มาตรการป้องกันพิเศษฯ ที่นำข้อมูลการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือราคาภายในประเทศที่ตกต่ำ (Trigger Volume หรือ Trigger Price) เฉพาะสินค้าที่ผ่านการเปิดตลาด หรือ TRQ แล้ว มาคำนวณเพื่อหาค่าเกณฑ์ปริมาณและเกณฑ์ราคานำเข้า ที่จะเป็นตัวส่งสัญญาณให้ขึ้นภาษีได้ โดยจะเก็บภาษีได้ไม่เกิน 1/3 ของอัตราภาษีที่เก็บจริง หรือภาษีนอกโควตา
ในเบื้องต้นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ใช้ปริมาณการนำเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ โดยผลการคำนวณพบว่า ข้าว จะกำหนดให้สามารถนำเข้าได้ไม่เกินปริมาณ 35,521 ตัน เมล็ดกาแฟ 8,762 ตัน กาแฟสำเร็จรูป 616 ตัน และน้ำมันปาล์ม 16,396 ตัน เป็นต้น ประกอบกับกระทรวงเกษตรฯ
นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรยังได้ร่วมกับกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง จัดทำร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการนำสินค้าเข้า และการส่งสินค้าออก เพื่อเป็นประโยชน์ในการประมวลผลการออกรายงานสถิติในภาพรวมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือข้อตกลงฉบับดังกล่าวของทั้งสองกระทรวงในเร็วๆ นี้
"แม้ว่าสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรในภาพรวมประเทศไทยจะได้เปรียบดุลการค้า แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ยังคงดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน" รมว.เกษตรฯ กล่าว