ลูกจ้างจี้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 10 บาท,รมว.แรงงานคาดบอร์ดฯเคาะใน 2 สัปดาห์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มผู้ใช้แรงงานนำโดยนายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย(อรท.), น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย(สรส.) ประมาณ 70 คน เดินทางเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน เพื่อยื่นข้อเสนอ 10 ข้อ ได้แก่ ขอให้รัฐบาลปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยแบ่งเป็น 3 โซนๆ 10 บาท, ขอให้แก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อผลักดันสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์กรมหาชน, ขอให้เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรแก่ผู้ประกันตนจากเดือนละ 350 บาทเป็น 500 บาท เป็นต้น

นายมนัส กล่าวว่า ข้อเสนอให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 10 บาทนั้นอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพได้เพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งจากการลงพื้นที่ไปสำรวจพบว่าปัจจุบันลูกจ้างมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย เช่น ที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 206 บาท เดือนหนึ่งทำงาน 26 วัน รวมเป็นรายได้เดือนละ 5,356 บาท แต่เมื่อหักค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าอาหารแล้วจะเหลือรายได้เพียงเดือนละ 3,528 บาท ทำให้ลูกจ้างแทบไม่เหลือเงินเลี้ยงตัวเอง ขณะที่ระดับรายได้ที่ทำให้ลูกจ้างพอที่จะอยู่ได้คือ 8,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นลูกจ้างส่วนใหญ่จึงหาทางออกด้วยการทำงานล่วงเวลา

"หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรให้เท่ากันทั่วประเทศ เพราะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเหมือนกันหมด ที่ผ่านมาการพิจารณาของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะบางจังหวัดได้ปรับ แต่บางจังหวัดกลับไม่ได้ปรับ" นายมนัส กล่าว

ประธาน อรท.กล่าวว่า ดังนั้นการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรกลับมาใช้ระบบเดิมที่แบ่งออกเป็น 3 โซน และเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ให้ปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาเคยหยิบยกประเด็นนี้มาพูดกันนานแล้ว แต่ยังไม่มีการนำไปปฎิบัติอย่างจริงจัง

ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ไม่ควรน้อยกว่า 10 บาท และเพื่อความเป็นธรรมกับลูกจ้างทั้งหมดก็ควรปรับให้เท่าๆ กันทั่วประเทศ โดยตัวเลข 10 บาทนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายของลูกจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น จากการส่งแบบสอบถามไปยังลูกจ้างในโรงงานต่างๆ พบว่าค่าจ้างที่ทำให้อยู่ได้คือวันละ 360 บาท แต่ตัวเลขนี้เมื่อพูดออกไปก็มักถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันเพราะทั้งนายจ้าง และรัฐบาลก็คงไม่ยอมแน่

ด้าน รมว.แรงงาน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดำริของนายกรัฐมนตรีหลังมีการเสนอปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการ โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้ปรับค่าจ้างสูงขึ้นซึ่งอาจจะมากกว่าทุกครั้ง และตนเองตั้งใจว่าจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณามากทำให้ยังไม่ได้คุยกัน

"รู้สึกเห็นใจลูกจ้างและผู้ที่มีรายได้น้อยที่ต้องแบกรับภาระต่างๆ มากมาย ขณะนี้คณะกรรมการค่าจ้างกลางกำลังรวบรวมข้อมูลและพิจารณาอยู่ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นแนวคิดของท่านนายกรัฐมนตรีอยู่แล้วที่จะช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่ให้ใครต้องเสียประโยชน์ เพราะฉะนั้นกรอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลางซึ่งเป็นระบบไตรภาคีก็ต้องคำนึงถึงกรอบแนวคิดของนายกรัฐมนตรีด้วย คาดว่าการพิจารณาฯ จะได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์" นายเฉลิมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ