กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ขึ้นเป็น 4.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย.ว่าจะขยายตัวเพียง 4.1% อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟเตือนว่าวิกฤตหนี้สาธารณะได้ทำให้ความเสี่ยงด้านการเงินเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมกับแนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่นของสาธารณะชน
ในรายงาน World Economic Outlook รายไตรมาสของไอเอ็มเอฟนั้น ไอเอ็มเอฟยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็น 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% ส่วนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ใช้สกุลเงินยูโร ยังคงทรงตัวที่ระดับ 1% แต่ไอเอ็มเอฟเตือนว่า ความเสี่ยงที่มีต่อระบบเศรษฐกิจนั้น เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์การเงินในยุโรป พร้อมกับแนะนำให้ผู้นำยุโรปเร่งแก้ปัญหาหนี้สาธารณะและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในภาคธนาคาร
"วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปกำลังส่งผลกระทบไปยังภูมิภาคอื่นๆ และบั่นทอนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย" ไอเอ็มเอฟกล่าว
ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเป็น 7.5% จากเดิม 7% โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวได้ดีในปีนี้เพราะได้แรงหนุนจากความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมส่งออกและดีมานด์ภายในประเทศ โดยไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็น 10.5% จากเดิม 10% ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็น 2.4% จากเดิม 1.9% และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียเป็น 9.4% จากเดิม 8.8%
อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟเตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในยุโรปอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการค้าและการเงินของเอเชียด้วย โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของหลายประเทศในเอเชียเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ผู้นำยุโรปจะต้องเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่นโดยเร็ว และต้องเร่งแก้ปัญหาความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตัวเลขหนี้สาธารณะทั้งของภาคธนาคารและภาครัฐ รวมทั้งความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินของยุโรปมีฐานเงินทุนที่มากพอ และตลาดการเงินมีสภาพคล่องหมุนเวียนอย่างเพียงพอด้วยเช่นกัน
ไอเอ็มเอฟยังกล่าวด้วยว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจำเป็นต้องเร่งดำเนินการปฏิรูประบบการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับโครงสร้างเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ การปรับโครงสร้างและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภาคการธนาคาร และการยกเครื่องกฎข้อบังคับด้านการเงิน
"หากภาคการธนาคารไม่มีการปรับโครงสร้างเงินทุนและปรับโครงสร้างระบบการธนาคาร ปริมาณสินเชื่อหมุนเวียนในระบบของประเทศก็จะอ่อนแอลงด้วย" ไอเอ็มเอฟกล่าว
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ข้อมูลบ่งชี้ทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในเดือนพ.ค. รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการขยายตัวด้านการค้า โดยตัวเลขดังกล่าวขยายตัวปานกลางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และขยายตัวแข็งแกร่งในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่