(เพิ่มเติม1) ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.53 ที่ 69.1 สูงขึ้นจาก พ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 8, 2010 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.53 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 69.1 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.53 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 67.6

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 68.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 93.9

"ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น"ศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุ

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนี ได้แก่ การขับเคลื่อนแผนปรองดองแห่งชาติส่งผลต่อจิตวิทยาเชิงบวกว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ปรับประมาณการ GDP ในปีนี้โดยคาดว่าจะโต 5.5% จากเดิมทีคาดไว้แค่ 4.5%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25%, การส่งออกยังเติบโตต่อเนื่อง โดยในดือน พ.ค.ขยายตัวถึง 42.5%

ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ปัญหาภัยแล้งขยายวงกว้าง, ความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เนื่องมาจากผู้บริโภคมีความหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากความวุ่นวายทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่มีสัญญาณดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมยังเคลื่อนไหวต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 71 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกังวลต่อความไม่แน่นอนหลังเหตุการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าการบริโภคของประชาชนยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3/53 เพราะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4/52

หากสถานการการเมืองและปัจจัยลบต่างๆ ไม่คลี่คลายลงในระยะเวลาสั้นตามความคาดหวังของผู้บริโภคก็อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจปรับตัวลดลงได้ในอนาคต

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการที่ทุกฝ่ายช่วยทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในบ้านเมือง จึงเชื่อว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งทิศทางดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.ได้ปรับตัวสูงขึ้นเพร้อมกับความคาดหวังในอนาคตที่มีอยู่มาก และปัจจัยลบที่ไม่ได้สำคัญมากนัก จึงทำให้เห็นว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะดีขึ้นเป็นลำดับ

"ผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจและกลับมาซื้อสินค้าคงทน และเริ่มมีการท่องเที่ยวมากขึ้น เพระฉะนั้นการบริโภคจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นและเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในไลยไตรมาส 3"นายธนวรรธน์ กล่าว

ผอ. ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเติบโตในระดับ 5-6% แต่ทั้งนี้ยังต้องขึ้นกับสถานการณ์การเมืองเป็นหลัก รวมทั้งสถานการณ์อื่นๆ ในต่างประเทศ

สาเหตุที่ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะโต 5-6% เพราะผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คนใหม่ส่งสัญญาณว่าในปีนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.75% นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจไทยต้องปรับตัวดีขึ้น ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งที่จำเป็น

"การที่ธปท.มีความมั่นใจต่อภาพเศรษฐกิจ และคาดว่าจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.75% ตั้งแต่ส.ค. ป็นต้นไปนั้น เราคิดว่าสัญญาณนี้จะเป็นภาพที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สัญญาณตอนนี้เรามองว่าดอกเบี้ยจะขึ้นอีก 0.50-0.75% ภายในปีนี้" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า มีความเป็นไปได้ว่าจากนี้ไปจนถึงปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะปรับเข้าไปใกล้เคียงระดับ 2% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในขณะนี้ยังติดลบอยู่ที่ 2% กว่า จึงเป็นเหตุผลที่ธปท. ต้องการทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับขึ้นมาเป็นบวก ซึ่งทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ที่อาจปรับขึ้นอีกอย่างน้อย 0.50% ก็น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบน้อยลงได้ เพื่อช่วยส่งเสริมการออมของประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ายังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ถึง 5-7% ซึ่งรัฐบาลต้องการนำเงินออมจากประชาชนไปลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคต์ต่างๆ

ทางศูนย์พยาพรณ์ฯ มองว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยดูจากสัญญาณดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและภาวะการส่งออกที่เติบโตดีขึ้นมาก โดยคาดว่าจะมีผลให้เงินบาทเข้าสู่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายไตรมาส 3/53 และในไตรมาส 4/53 คาดว่าเงินบาทจะเฉลี่ยที่ 31.70 บาท/ดอลลาร์ โดยยังเชื่อว่าธปท.จะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยเชื่อว่าการส่งออกในปีนี้จะโตได้ 17% ในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ