(เพิ่มเติม) พลังงาน เตรียมเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซแหล่ง M9 ในพม่าราวปลายก.ค.-ต้นส.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 8, 2010 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมที่จะเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซจากแหล่งซอติก้า จากประเทศสหภาพพม่า ในช่วงประมาณสิ้นเดือน ก.ค. ถึงต้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางไปที่ประเทศพม่าราวต้นเดือน ส.ค.

สัญญาซื้อขายจะมีอายุ 30 ปี นับจากวันที่เริ่มส่งก๊าซฯ หรือ เมื่อปริมาณสำรองหมด โดยมีจุดส่งมอบอยู่ที่ชายแดนไทย-พม่า บ้านอิต่อง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี วันที่เริ่มส่งก๊าซฯ อยู่ในช่วงเดือนเม.ย.-ธ.ค.56 ปริมาณผลิตก๊าซฯ รวม 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แบ่งเป็นของตลาดก๊าซฯ ภายในประเทศ สหภาพพม่า 60 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และส่วนอีก 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็นปริมาณซื้อขายก๊าซฯ รายวันตามสัญญาของ ปตท. และถ้าหากในอนาคต มีการสำรวจพบปริมาณสำรองก๊าซฯเพิ่มขึ้น ปริมาณซื้อขายก๊าซฯ ก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนข้างต้น

สำหรับสาระสำคัญของการซื้อขายก๊าซฯ จะเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีของไทยที่ได้อนุมัติเมื่อต้นปี 2553 ที่ผ่านมา โดยได้เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ แหล่งซอติก้า โดยมอบหมายให้บมจ. ปตท. (PTT) ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ หลังร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และอนุมัติให้ใช้เงื่อนไขการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนี้

ผู้ขายก๊าซฯ ต้องเตรียมความสามารถส่งก๊าซฯ เท่ากับ 115% ของปริมาณซื้อขายก๊าซฯ รายวัน และ ปตท.จะต้องรับก๊าซฯ ขั้นต่ำในแต่ละวันไม่น้อยกว่า 50% ของปริมาณซื้อขายก๊าซฯ รายวัน

เงื่อนไข Take-or-Pay เท่ากับ 100% ของปริมาณรับก๊าซฯ สุทธิในแต่ละปีสัญญา ทั้งนี้ ปตท.มีสิทธิที่จะเรียกรับก๊าซฯ ที่ได้จ่ายเงินค่า Take-or-Pay ไป โดยไม่ต้องชำระเงินอีก (Make-up) ภายหลังจากที่รับก๊าซฯ ครบตามปริมาณขั้นต่ำของเดือนนั้นๆ แล้ว

ถ้า ปตท.สามารถรับก๊าซฯ เกินกว่าปริมาณขั้นต่ำในปีสัญญาใดๆ ปตท.มีสิทธินำปริมาณส่วนเกินดังกล่าว (Carry Forward Gas) ไปลดปริมาณรับก๊าซฯ ขั้นต่ำในปีสัญญาถัดๆ ไปได้ ภายในเวลา 5 ปี โดยสามารถใช้สิทธิได้ครั้งละไม่เกิน 15% ของปริมาณรับก๊าซฯ ขั้นต่ำในปีสัญญา

ในกรณีที่ผู้ขายส่งก๊าซฯ ต่ำกว่าปริมาณที่ ปตท.เรียกรับในแต่ละวัน ปตท.สามารถเรียกรับก๊าซฯ ในปริมาณที่เท่ากับปริมาณที่ขาดส่งในราคา 75% ของราคาตามสัญญา เมื่อปริมาณการผลิตก๊าซฯ สะสมเกินกว่า 62.5% ของปริมาณสำรองก๊าซฯ ผู้ขายมีสิทธิลด ปริมาณซื้อขายก๊าซฯ ลงได้ (Post Plateau Period) โดยแจ้งให้ ปตท. ทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 12 เดือน นอกจากนี้ ในช่วง Post Plateau Period ถ้า ปตท.ยังมีปริมาณ Take-or-Pay คงเหลืออยู่ คู่สัญญาจะมาเจรจาหาวิธีให้ ปตท.สามารถ Make-Up ให้ได้หมดก่อนที่จะสิ้นสุดอายุสัญญา

ทั้งนี้ การนำเข้าก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้า ในปริมาณซื้อขายก๊าซฯ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณซื้อขายก๊าซฯของแหล่งยาดานาและเยตากุน จำนวน 565 และ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามลำดับ จะทำให้มีปริมาณก๊าซฯจากฝั่งตะวันตกรวมทั้งสิ้นเป็น 1,205 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งเพียงพอต่อ การใช้ก๊าซฯในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังเพียงพอต่อการขยายการใช้ก๊าซฯในภาคขนส่ง (NGV) และอุตสาหกรรมด้วย

แหล่งซอติก้า ตั้งอยู่ในแปลง M9 และ M11 (บางส่วน) ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศพม่า โดยมี ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ถือหุ้น 100% และเป็นผู้ดำเนินการ มีปริมาณสำรองก๊าซฯ เริ่มต้น 1.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2552 แปลง M9 มีขนาดพื้นที่ 11,746 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญ คือ Zawtika, Kakonna และ Gawthaka เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ โดยโครงการนี้ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.ได้เริ่มพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ปี 2546


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ