TMB เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ดึงลูกค้า SMEs คาด H2/53 แข่งสินเชื่อรุนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 8, 2010 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย(TMB)กล่าวว่า ช่วงกลางเดือนก.ค. ธนาคารมีแผนออกผลิตภัณฑ์เพื่อการรีไฟแนนซ์โดยเฉพาะ คาดหวังว่าจะสามารถดึงดูดลูกค้าเอสเอ็มอีธนาคารแห่งอื่นเข้าใช้สินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 30,000-40,000 ล้านบาท/เดือน จากปัจจุบัน 3,000-4,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งจะทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 20-25% ดังนั้น ฐานสินเชื่อเอสเอ็มอี ณ สิ้นปีนี้จะเพิ่ม 106,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 81,500 ล้านบาท

ด้านนายปพนธ์ มังคลธนะกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ TMB กล่าวว่า ยอดการอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีช่วงครึ่งแรกปีนี้มูลค่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วน 40-50% ของจำนวนลูกค้า มาจากการรีไฟแนนซ์ ทำให้ยอดสินเชื่อสุทธิช่วงเดียวกันเติบโต 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสาขาธนาคารมียอดขอสินเชื่อเฉลี่ย 800-1,000 ล้านบาท/สาขา/วัน

แต่ทั้งนี้คาดว่าในครึ่งปีหลังทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นตัวเร่งการแข่งขันด้านรีไฟแนนซ์สินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยเครื่องมือทางด้านดอกเบี้ยและความเพียงพอของวงเงินสินเชื่อที่ลูกค้าต้องการจะเป็นจุดขายที่สำคัญ

นายปพนธ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีมีต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้น ดังนั้น ลูกค้าที่มีแผนลงทุนระยะ 1-2 ปีข้างหน้าควรจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างดอกเบี้ยจากอัตราลอยตัวเป็นอัตราคงที่มากขึ้น ในขณะที่การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ลูกค้ามีเวลาในการปรับตัวได้รองรับต้นทุนปรับขึ้นได้ แต่ในระยะต่อไป 1-2 ปีข้างหน้าความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ลูกค้าจะด้อยลง หากบริหารเงินทุนหมุนเวียนไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ธนาคารจะพยามรักษาคุณภาพสินเชื่อให้ดีขึ้น จากปัจจุบันมีปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอีต่ำกว่าระดับ 10% จากระดับ 20% ณ สิ้นปี 52

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารมีนโยบายกระจายฐานสินเชื่อเอสเอ็มอีให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านคุณภาพสินเชื่อ เนื่องจากปัจจุบันกระจุกตัวใน2-3อุตสาหกรรมหลักเช่น โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้างในสัดส่วนมากกว่า15% ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารคาดหวังว่าจะกระจายความเสี่ยงไปยังกลุ่มลูกค้าภาคการผลิต บริการ ธุรกิจการค้ามากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ