สคร. เผย มิ.ย.53 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้าคลังสูงกว่าเป้า 3.5 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 9, 2010 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจในฐานะโฆษก สคร. เปิดเผยว่า แนวโน้มของรายได้นำส่งแผ่นดินของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% ในปีงบประมาณ 53 ถือว่าเป็นที่น่าพอใจมาก โดยคาดว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 86,812.74 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 3,512.74 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.22%

แม้ว่ารายได้นำส่งสะสมในขณะนี้ (ต.ค.52 - มิ.ย.53) ต่ำกว่าประมาณการ 1,218.35 ล้านบาท กล่าวคือ มียอดรวมอยู่ที่ 65,557.71 ล้านบาท เนื่องจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 53 ได้ทันภายในเดือนมิ.ย.53 และได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินปันผลประจำปี 52 จำนวน 1,105.30 ล้านบาท และ 238.05 ล้านบาท ตามลำดับ แต่หากได้รวมเงินปันผลจากรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งนี้แล้ว ก็จะทำให้รายได้นำส่งสะสมล่าสุดสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับรายได้นำส่งในเดือนมิ.ย.53 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,422.49 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่มียอดรายได้นำส่งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง นำส่ง 1,469.00 ล้านบาท, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่ง 1,294.21 ล้านบาท เป็นรายได้จากการจำหน่ายสลาก 1,120 ล้านบาท และเป็นรายได้จากเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่มีผู้มาขอรับรวมดอกเบี้ย 174.21 ล้านบาท, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่ง 500 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นำส่ง 70.43 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีรายได้ที่มาจากกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% รวม 78.78 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำส่งรายได้สูงที่สุดจำนวน 63.44 ล้านบาท

นายกุลิศ กล่าวว่า ภาพรวมของผลงานการเร่งรัดและติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนพ.คง53 ปรากฏว่า รัฐวิสาหกิจ 46 แห่งที่ได้รับกรอบการเบิกจ่ายงบลงทุนที่มีความพร้อมประจำปีงบประมาณ 53 นั้น รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมประจำปี 53 (ต.ค.52 - พ.ค.53) ได้จำนวน 69,067.62 ล้านบาท หรือ 26.04% ของกรอบการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติในปี 53 จำนวนทั้งสิ้น 274,151.11 ล้านบาท

รัฐวิสาหกิจที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงปัจจุบัน (ต.ค.52- พ.ค.53) สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปตท.(PTT) จำนวน 15,286 ล้านบาท, บมจ.กสท โทรคมนาคม จำนวน 7,200 ล้านบาท, บมจ. การบินไทย(THAI) จำนวน 6,113 ล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จำนวน 5,111 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 4,726 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังไม่สามารถทำการเบิกจ่ายงบลงทุนตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในเดือนนี้ แต่สคร.ก็จะทำหน้าที่ติดตาม ผลักดัน และสนับสนุนให้โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ดำเนินตามเป้าหมายที่วางไว้ให้มากที่สุด

นายกุลิศ เปิดเผยเกี่ยวกับผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 55 แห่ง และอีก 1 บริษัท ในปี 52 ว่า คะแนนเฉลี่ยในปี 52 นี้ลดลงจากปี 51 เล็กน้อย คือ จาก 3.6103 ลดลงเป็น 3.5925 เพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในปี 52 และรัฐวิสาหกิจบางแห่งก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยรัฐวิสาหกิจที่มีคะแนนประเมินผลเฉลี่ยในแต่ละหัวข้อและภาพรวมสูงขึ้น ได้แก่รัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงาน, สาขาสถาบันการเงิน, สาขาสาธารณูปการ และสาขาขนส่ง ซึ่งแสดงถึงผลการดำเนินงานและคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หากพิจารณาคะแนนผลการประเมินในช่วง 2 ปีย้อนหลัง พบว่ารัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินในภาพรวมดีขึ้นต่อเนื่อง มีจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, การประปานครหลวง, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินในภาพรวมต่ำลงต่อเนื่อง มีจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร, บมจ. การบินไทย, องค์การสุรา, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, องค์การคลังสินค้า, บมจ.ปตท. และการกีฬาแห่งประเทศไทย

สำหรับกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินในภาพรวมต่ำอย่างต่อเนื่องนั้น สคร.ได้มีกลไกในการกระตุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นด้วยการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วยรัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินผลต่ำอย่างต่อเนื่อง ในการจัดทำแผนฟื้นฟูเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นสามารถพลิกฟื้นและมีผลการดำเนินงานที่ดีตามลำดับ

"ต้องยอมรับว่าระบบการประเมินผลมีส่วนผลักดันให้รัฐวิสาหกิจมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาองค์กรและทบทวนบทบาทของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็งและได้คะแนนประเมินผลอยู่ในระดับสูงนั้น ก็จะก้าวไปอีกขั้นและมีความท้าทายมากขึ้น เมื่อเข้ามาสู่ระบบประเมินผลที่มีมาตรฐานระดับสากลที่เรียกว่าระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Performance Appraisal หรือ SEPA) ซึ่งเป็นที่ยอมรับใน 70 ประเทศทั่วโลก โดยขณะนี้มีรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่เข้าสู่ระบบนี้ และสคร.ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐวิสาหกิจต่างๆ จะทยอยเข้าสู่ระบบนี้ครบทั้ง 58 แห่งในเร็ววันนี้ เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจไทยให้ไปสู่สากล" นายกุลิศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ