ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 14 ก.ค.หรือ 25 ส.ค.ไม่แตกต่าง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 9, 2010 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 14 ก.ค.นี้ จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับผ่อนคลายอย่างมากที่ร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 จากการออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่าความจำเป็นของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษที่ร้อยละ 1.25 มีน้อยลง และเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายคุมเข้มแรงๆ ก็ควรที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

ขณะเดียวกันยังมีโอกาสใกล้เคียงกันกับความเป็นไปได้เช่นกันที่ กนง.อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม และเตรียมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 25 ส.ค.53 เนื่องจากต้องรอติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.53 ที่จะมีการเผยแพร่ในเดือนก.ค.นี้ จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นเดือนที่ความเสี่ยงการเมืองลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็เพื่อให้เวลาตลาดการเงินและภาคส่วนต่างๆ ในการปรับตัวก่อนที่จะปรับทิศนโยบายอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 25 ส.ค.53

"ไม่ว่ามติการประชุมรอบนี้ จะมีข้อสรุปออกมาเป็นเช่นไรในระหว่างสองกรณีข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจังหวะเวลาที่ห่างกันเพียง 1 รอบการประชุม หรือประมาณ 6 สัปดาห์ คงไม่มีความแตกต่างกันมากนักสำหรับการดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปีข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

นอกจากนี้ การปรับทิศนโยบายการเงินของ กนง.หากเกิดขึ้นก็ยังเป็นการดำเนินนโยบายในทิศทางที่สอดคล้องกันกับการคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในระยะที่ผ่านมา

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แรงส่งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออกเป็นหลัก ผนวกกับอานิสงส์จากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายของทางการไทย ซึ่งครอบคลุมถึงการเร่งดำเนินมาตรการเยียวยาผลกระทบทางการเมืองออกมาในทันทีหลังการชุมนุมยุติลง และความต่อเนื่องของการใช้จ่ายจากภาครัฐผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณและเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง
          ตลอดจนกระแสความนิยมในฟุตบอลโลกและการออกโครงการส่งเสริมการขายที่เกี่ยวเนื่องของสินค้าและบริการต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 นั้น ปัจจัยบวกดังกล่าวน่าที่จะสามารถลดทอนผลกระทบจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่างประเทศให้มีขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้
          โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 53 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-6.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 2.2 ในปี 52 แม้ว่าโมเมนตัมการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีแนวโน้มแผ่วลงเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก อันเป็นผลจากความเสี่ยงเศรษฐกิจต่างประเทศที่อาจทำให้การส่งออกเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ภาพรวมความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ลดระดับลง ภายใต้สมมติฐานที่ความเสี่ยงการเมืองไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเศรษฐกิจโลกสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยรอบ 2 ก็น่าที่จะทำให้ กนง.มีความยืดหยุ่นสำหรับการปรับขั้วนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้นภายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้
          "เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปในลักษณะที่ไม่ล่าช้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 3/53 ก็ถือได้ว่าน่าจะเป็นจังหวะเวลาที่สามารถยอมรับได้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการป้องกันภาวะความไม่สมดุลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบเป็นเวลานานเกินไป ซึ่งอาจบั่นทอนแรงจูงใจของการออมในประเทศ ตลอดจนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
          สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์นั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการขยายสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินโดยการดูดซับสภาพคล่องผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ ของ ธปท. โดยมองว่า หาก กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมตาม แต่จังหวะเวลาและขนาดการปรับขึ้นนั้น คงจะอยู่ที่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขัน รวมถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบของทางการเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ