ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์สับปะรดเพื่อรักษาแชมป์ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 12, 2010 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2553-2557 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสับปะรดอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านการผลิต และการตลาดในระยะยาว

เนื่องจาก แม้ว่าปัจจุบันไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งในด้านการผลิต และการส่งออกสับปะรดมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเฉพาะการส่งออกสับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรด ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก และมีสัดส่วนในการส่งออกรวมกันมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกสับปะรดทั้งหมด อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละประมาณ 640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกกว่า ร้อยละ 40

แต่ในอนาคต ไทยอาจจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกสับปะรดของไทย ได้แก่ ความไม่แน่นอนของวัตถุดิบสับปะรดในแต่ละฤดูกาลผลิต ทั้งในแง่ของปริมาณ และคุณภาพ นอกจากสภาพอากาศที่จะเป็นตัวกำหนดปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบสับปะรดในแต่ละปีแล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตสับปะรดของไทยยังคงมีปัญหา เนื่องจากยังมีการปลูกสับปะรดของเกษตรกรรายย่อย ส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพของสับปะรดในแต่ละปีนั้นไม่คงที่ รวมถึงความผันผวนของราคาปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นราคาปุ๋ยเคมี หรือราคากระป๋องบรรจุภัณฑ์ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสับปะรด

นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ที่มีความต้องการสินค้าทั้งที่เน้นและไม่เน้นคุณภาพ แต่ต้องมีราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของสินค้า ซึ่งผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่จะนิยมสับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรดที่มีคุณภาพ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ นำเข้าสับปะรดกระป๋องจากไทยมากที่สุด

แต่ในขณะที่น้ำสับปะรดนั้น สหรัฐฯมีการนำเข้าจากฟิลิปปินส์มากขึ้น จนในช่วง 4 เดือนแรกปี 2553 สหรัฐฯได้นำเข้าน้ำสับปะรดจากฟิลิปปินส์มากกว่าไทย โดยมีมูลค่าการนำเข้า 16.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 (YoY) ดังนั้น ในอนาคตไทยจะต้องระวังคู่แข่งที่สำคัญอย่างฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ เวียดนาม ถือเป็นประเทศใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ถึงแม้เวียดนามจะมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯไม่มากนัก แต่ด้วยต้นทุนในการผลิตของเวียดนามที่ต่ำกว่าไทย จึงเป็นไปได้ว่า ในอนาคตหากเวียดนามมีการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เวียดนามน่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยอีกประเทศหนึ่ง โดยจะเห็นได้จาก ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 สหรัฐฯนำเข้าสับปะรดกระป๋องจากเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 239.2 (YoY) และนำเข้าน้ำสับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 (YoY)

ในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดหลักของไทยในการส่งออกสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีการนำเข้าสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดจากไทยมากเป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีนซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย

เรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งไทยจะต้องระมัดระวังในเรื่องของมาตรการการกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร (GSP) รวมถึงมาตรการสินค้าและมาตรการสุขอนามัยต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และการส่งออกของไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญลดลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอแนะในการปรับตัวด้านการผลิต การทำตลาดข้อตกลง (Contract-Farming) การจัดทำตลาดข้อตกลงระหว่างเกษตรกรกับโรงงานนั้นนับว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพ, การรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อส้รางความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร ในการร่วมมือกันปรับปรุงด้านการผลิตและการตลาด, การจัดการด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงงานกับเกษตรกร

ทางด้านการส่งออก ภาครัฐต้องผลักดันให้มีการเจรจากับประเทศผู้นำเข้า เพื่อลดมาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งที่เป็นมาตราการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี ทั้งนี้ ไทยต้องเร่งหาพันธมิตรที่มีแนวความคิดเดียวกัน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองให้มากขึ้นในการเจรจาลดการอุดหนุนการผลิตและการค้าสินค้าเกษตร เช่น การร่วมกับประเทศกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรส่งออก ติดตามศึกษาการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถปรับตัวรองรับกับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า เป็นต้น

กำหนดมาตรการด้านการส่งออกสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่นำรายได้เข้าประเทศ ให้มีการส่งออกสินค้าที่ได้มาตรฐานตามความต้องการของต่างประเทศ เช่น HACCP GMP เป็นต้น และไม่ขายตัดราคากันเอง เพื่อป้องกันปัญหาการถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการปรับปรุงระบบการผลิตให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าตามที่ประเทศคู่ค้าต้องการ รวมทั้งต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลกให้มากขึ้น รวมทั้งหาทางขยายการส่งออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพรองรับอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ