เจ้าหน้าที่ในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) แนะนำให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรประดมทุนด้วยตนเองก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ หากผลการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ออกมาพบว่าธนาคารอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
แจน คีส์ เดอ เจเกอร์ รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนว่า ธนาคารในยุโรปอาจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถปรับโครงสร้างด้านการเงินได้
ขณะที่โอลี เรน คณะกรรมาธิการด้านกิจการเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป กล่าวว่า ธนาคารในยุโรปควรจะหาวิธีการระดมทุนในตลาดเพื่อสร้างฐานเงินทุนให้แข็งแกร่งก่อน และหากไม่สำเร็จ จึงจะใช้วิธีการการยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นแนวทางต่อไป
คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการธนาคารของสหภาพยุโรป (CEBS) กำลังทดสอบความแข็งแกร่งของธนาคาร 91 แห่งในยุโรป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าธนาคารเหล่านี้สามารถต้านทานภาวะขาดทุนอันเนื่องมาจากวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ สเปน และโปรตุเกสได้ โดยเจ้าหน้าที่กำลังหารือกันเรื่องการเปิดเผยผลการทดสอบ stress test และแนวทางในการเผยแพร่ต่อสาธารณะชน นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังผลักดันให้รัฐบาลของประเทศยุโรปเปิดเผยตัวเลขขาดทุนของธนาคารแต่ละแห่งด้วย
ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปที่เข้ารับการทดสอบ stress test ในครั้งนี้ คิดเป็นร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมธนาคารยุโรป รวมถึงดอยช์ แบงค์ เอจี ของเยอรมนี, บีเอ็นพี พาริบาส์ และไอเอ็นจี แบงค์ ของเนเธอร์แลนด์ ส่วนธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเยอรมนี หรือที่เรียกกว่า "landesbanken" และธนาคารออมทรัพย์ของสเปน หรือที่เรียกว่า "cajas" ก็เข้ารับการทดสอบด้วยเช่นกัน