กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นต่อสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า(ต.ค.53)ว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 72.19 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50
"แสดงให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นต่อสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน(ก.ค.53) ว่ายังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ เห็นได้จากค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 42.16 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ปัจจัยที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า อันดับแรก ปัจจัยด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมากว่าจะปรับตัวดีขึ้น ค่าดัชนีอยู่ที่ 81.88 รองลงมา คือ ปัจจัยการบริโภคภาคเอกชน ค่าดัชนีอยู่ที่ 79.29, การลงทุนภาคเอกชน ค่าดัชนีอยู่ที่ 71.01, การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ค่าดัชนีอยู่ที่ 65.22 และการส่งออกสินค้า ค่าดัชนีอยู่ที่ 63.57
สำหรับการประเมินสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลด้านลบที่สำคัญคือ วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป รองลงมาเป็นปัญหาด้านการเมือง, เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลด้านบวกที่สำคัญ คือ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค รองลงมาเป็นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และการปรับค่าเงินหยวนของจีน
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนมาเป็นการให้บริการสังคมฟรีระยะยาวนั้น นักเศรษฐศาสตร์ 51.4% เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยในจำนวนนี้เห็นด้วยกับมาตรการรถเมล์ฟรีมากที่สุด รองลงมาเป็นมาตรการรถไฟฟรี และค่าไฟฟ้าฟรี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีก 40% ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้น(ภายใน 1 ปี) เสนอให้รัฐบาลรักษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ก่อน และเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ส่วนนโยบายการเงินนั้นเสนอให้รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้อีกสักระยะก่อน รวมทั้งเสนอให้ตัดโครงการประชานิยมที่ไม่ส่งผลต่อประชาชนที่เดือดร้อนจริง แต่ควรให้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตมากกว่า
ส่วนระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) เสนอให้ดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการสร้างความเป็นธรรมทางทางเศรษฐกิจผ่านแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม, การนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้, การส่งเสริมภาคการเกษตร, การสร้างงานในท้องถิ่นเพื่อลดการเคลื่อนย้ายคนเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งผลที่ตามมานอกจากความเหลื่อมล้ำที่ลดลงแล้วยังจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของคนในประเทศอันจะช่วยลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย
ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 25 แห่ง โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที 9-12 ก.ค.53