สนข.แนะรัฐลงทุนสร้างรถไฟทางคู่แทนรถไฟดีเซลเหตุประหยัดค่าน้ำมัน-ค่าซ่อม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เสนอทางเลือกให้รัฐบาลลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่แทนรถไฟดีเซล เนื่องจากมีข้อดีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งน้ำมันและค่าซ่อมบำรุง 30% ขณะที่ต้องลงทุนเพิ่มอีกกิโลเมตรละ 30 ล้านบาท

นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการ สนข.กล่าวภายหลังเป็นประธานงานสัมมนาเชิงวิชาการ ครั้งที่ 2 เรื่องการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น ระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ ระยะที่ 1 ว่า บริษัทที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นภายในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากนั้น สนข.จะได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา โดยคาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้เร็วที่สุดในปี 2554

ด้านนายสุชัย รอยวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านระบบรถไฟบริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า แผนการพัฒนาทางคู่ระยะเร่งด่วนที่ ครม.เห็นชอบ 5 เส้นทางหลัก ซึ่งจะเร่งดำเนินการก่อน ได้แก่ 1.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กม. 2.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. 3.ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. 4.นครปฐม-ชุมทางหนองปลาดุก ระยะทาง 165 กม. และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม.

ทั้งนี้ผลการศึกษาโครงการดังกล่าวพบว่าเมื่อดำเนินการก่อสร้างทางคู่ระยะเร่งด่วนแล้ว ควรจะพัฒนาระบบรถไฟดีเซลเป็นระบบรถไฟฟ้า เพราะจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง ค่าพนักงาน ได้สูงถึง 30% ขณะเดียวกันยังช่วยลดเวลาในการเดินทางได้ 20% และที่สำคัญยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาและออกแบบครั้งนี้จะได้ออกแบบไว้สำหรับรองรับระบบรถไฟฟ้าด้วย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทางคู่ของประเทศไทย คือ การปรับปรุงทางรถไฟเดิม โดยการเพิ่มความแข็งแรง และประสิทธิภาพของรางรถไฟ พื้นทาง และไม้หมอน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ สามารถใช้ความเร็วได้ 180 กม.ต่อชั่วโมง และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็น 10% จากเดิม 2% และจะเพิ่มปริมาณขวบนรถไฟเป็น 500-800 ขบวนต่อวัน จากปัจจุบัน 200 ขบวนต่อวัน ขณะที่ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นถึง 3.5 เท่า หรือประมาณ 97 ล้านคน

ขณะที่นายพิเชฐ คุณาธรรมารักษ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ สนข. กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้จะมี 2 ชุด คือ การพัฒนารถไฟทางคู่สำหรับรถไฟดีเซล และรถไฟทางคู่สำหรับรถไฟฟ้า เพื่อที่จะเตรียมพร้อมหากในอนาคตประเทศไทยจะพัฒนาระบบรถไฟดีเซลเป็นรถไฟฟ้าก็จะสามารถนำผลการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นมาปรับใช้ได้ทันที ซึ่ง สนข.เห็นความสำคัญของปัญหาพลังงาน และการใช้ไฟฟ้าจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม

"หากรัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของระบบรถไฟฟ้าก็มีความเป็นไปได้มากที่ประเทศไทยจะพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับว่าระบบรถไฟดีเซลมีประโยชน์มหาศาลช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของประเทศ แต่หากพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าและลงทุนเพิ่มอีกสักนิดประมาณกิโลเมตรละ 30 ล้านบาท รวมการก่อสร้างสร้างรางและขบวนรถไฟฟ้า ก็จะได้ระบบรถไฟฟ้าที่มีประโยชน์ทั้งเรื่องของการลดต้นทุนการขนส่ง และการประหยัดพลังงาน" นายพิเชฐ กล่าว

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบเงินลงทุนระหว่างการลงทุนระบบรถไฟดีเซลและรถไฟฟ้าแล้วพบว่าการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนที่รัฐบาลเห็นชอบระยะทางประมาณ 400 กม.วงเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่หากพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ที่จะสามารถดำเนินการได้ก่อน คือ เส้นทางนครปฐม-ชุมทางหนองปลาดุก ระยะทาง 165 กม. เพราะเป็นโครงการที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง และไม่มีการคัดค้านจากประชาชน รองลงมาคือเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กม. อาจมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน และเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. ซึ่งจะมีการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ


แท็ก รถไฟ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ