ก.เกษตรฯมองแนวโน้มดัชนีราคาสินค้าเกษตรก.ค.53 สูงขึ้นจากมิ.ย.53เล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ คาดว่า ดัชนีราคาในเดือนกรกฎาคมนี้จะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย จากการที่สินค้าสำคัญหลายชนิดมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เช่น ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ในขณะที่ไม้ผลจากภาคใต้และลำไย จะออกสู่ตลาดมากขึ้นทำให้ราคาปรับตัวลดลงส่งผลให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นไม่มากนัก สำหรับยางพารา คาดว่าราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง

สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรและดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2553 นั้น ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น ร้อยละ 26.62 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวนาปรัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม พบว่า ดัชนีราคา สูงขึ้น ร้อยละ 3.72 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนหมอนทอง มังคุด เงาะโรงเรียน ลองกอง ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนข้าวหอมมะลินั้นมีราคาลดลง โดยในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่า

หากจำแนกดัชนีตามหมวดสินค้าในเดือนมิถุนายน เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเดือนพฤษภาคม พบว่า หมวดพืชอาหารและธัญพืช ดัชนีราคาสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.40 สินค้าที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ1.21 สินค้าที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

ส่วนหมวดพืชน้ำมัน ดัชนีราคาลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.82 สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 10.69 สินค้าที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว หมวดพืชไม้ยืนต้น ดัชนีราคาสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 104.93 สินค้าที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ ยางพารา และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 3.80

สำหรับหมวดพืชไม้ผล ดัชนีราคาสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 34.82 สินค้าที่ราคาสูงขึ้นมากได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลิ้นจี่ และลองกอง และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 6.57 สินค้าที่ราคาสูงได้แก่ สับปะรด ทุเรียน เงาะโรงเรียน มังคุด และลองกอง หมวดพืชผัก ดัชนีราคาสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 56.38 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 19.97 หมวดปศุสัตว์ ดัชนีราคาสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.93 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 2.91 หมวดประมง ดัชนีราคาลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 20.84 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 1.76 หมวดพืชพลังงาน ดัชนีราคาสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 27.17 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ มันสำปะหลัง และเมื่อเปรียบเทียบกับพฤษภาคมดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 4.68 ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

นายธีระ กล่าวถึงดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2553 พบว่า ภาพรวมด้านการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตสูงขึ้นเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.18 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตสูงขึ้นได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกร และไก่เนื้อ อย่างไรก็ตามเมื่อ เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมามีสินค้าที่ผลผลิตลดลงได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ทุเรียน และไข่ไก่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.54 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลงได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ทุเรียน สุกร และไก่เนื้อ ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตออกสู่ตลาดสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาได้แก่ ลำไย ยางพารา และไข่ไก่

สำหรับในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่า ดัชนีผลผลิตในภาพรวมจะลดลงจากเดือนที่ผ่านมา เพราะอยู่ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก แต่อย่างไรก็ตาม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์นั้น คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด ใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน มังคุด และลำไย คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ