นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติจดทะเบียนธุรกิจของไทยว่า ในเดือนมิ.ย.53 มีผู้ประกอบการขอจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด ทั่วประเทศ 4,321 ราย เพิ่มขึ้น 19% หรือ 693 ราย เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.52 ที่จดทะเบียนตั้งใหม่ 3,628 ราย แต่เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.53 ที่มีการจดทะเบียนตั้งใหม่ 3,502 ราย เพิ่มขึ้น 819 ราย หรือเพิ่มขึ้น 23%
โดยการจดทะเบียนตั้งใหม่เดือนมิ.ย.53 คิดเป็นเงินทุนจดทะเบียน 33,162 ล้านบาท นิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุดอันดับแรกคิดเป็น 20% ของการจดทะเบียนตั้งใหม่ ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 440 ราย รองลงมาคือ อสังหาริมทรัพย์ 242 ราย บริการนันทนาการ เช่น ตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล, จัดหานักแสดง, คาราโอเกะ, บันเทิง 178 ราย
สำหรับการจัดตั้งใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.53) อยู่ที่ 25,155 ราย เพิ่มขึ้น 30% หรือ 5,774 ราย เมื่อเทียบกับกับครึ่งปีแรกของปี 52 ที่มี 19,381 ราย โดยธุรกิจที่จดทะเบียนตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคาร, ตัวกลางทางการเงิน, ผลิตพลังงานไฟฟ้า, การวิจัยและการพัฒนาการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ และอสังหาริมทรัย์ เป็นต้น
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกกิจการทั่วประเทศในเดือนมิ.ย.53 ว่า มีจำนวน 1,119 ราย มีเงินทุนจดทะเบียน 6,281 ล้านบาท ธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกสูงสุด 3 อันดับแรก คิดเป็น 21% ของการจดทะเบียนเลิกทั้งหมด คือ การก่อสร้างอาคารทั่วไป 112 ราย, อสังหาริมทรัพย์ 69 ราย, บริการด้านธุรกิจอื่นๆ 47 ราย
ทั้งนี้ เมื่อเทียบการจดทะเบียนเลิกเดือนมิ.ย.52 ที่มีจำนวน 1,275 ราย ปรากฎว่าลดลง 156 ราย คิดเป็น 12% และเมื่อเปรียบเทียบเดือนพ.ค.53 ซึ่งมี 742 ราย เพิ่มขึ้น 377 ราย คิดเป็น 51% ขณะที่ช่วงครึ่งแรกปี 53 จดทะเบียนเลิก 5,551 ราย ลดลง 586 ราย หรือ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มี 6,137 ราย ส่งผลให้มีจำนวนห้างหุ้นส่วนจำกัด, ห้างหุ้นส่วนสามัญ, บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชน คงอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 544,192 ราย
"เดือนมิ.ย.53 มีธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.53 เป็นเพราะภาคธุรกิจเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น หลังจากความวุ่นวายทางการเมืองสงบลง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นมาก จึงทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 3 เชื่อว่า จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นอีก และการจดเลิกจะลดลง" นายอลงกรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ปัจจัยด้านการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามองอยู่ไป ซึ่งหากเกิดความวุ่นวายอีกจะมีผลให้ความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจของภาคเอกชนลดลงทันที" นายอลงกรณ์ กล่าว