ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกนง.ทยอยขึ้นอาร์/พีสู่ 2% สิ้นปี 53 หนุนเงินบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 0.25% ในวันนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการดำเนินการของธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ในเอเชีย ที่จะต้องรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่กำลังเร่งสูงขึ้น แม้ว่าความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก อาทิ กลุ่ม G-3 และจีน จะทยอยส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ จากสภาวการณ์ดังกล่าว จึงทำให้คาดการณ์ว่าวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในรอบนี้น่าที่จะดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็หมายความว่าอาจจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยขนาดที่มาก หากแรงกดดันเงินเฟ้อไม่เร่งตัวนอกเหนือการคาดการณ์ ขณะที่ตลาดการเงินก็ได้เริ่มปรับตัวรับการคาดการณ์ผลประชุมในรอบนี้ไปล่วงหน้าแล้วในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาทดสอบ 32.30 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับตัวขึ้นในทุกช่วงอายุ

หากทิศทางการคุมเข้มนโยบายการเงินของ ธปท.มีความต่อเนื่องในช่วงการประชุมที่เหลือของปี ขณะที สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินทั้งในและต่างประเทศเป็นไปตามที่ประเมินไว้ คาดว่าสัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท. และธนาคารกลางอื่นๆ ในเอเชีย น่าที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาทโน้มไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่โครงสร้างของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจแบนราบลง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นในขนาดที่มากกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในระยะยาว

สำหรับการประเมินภาพในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าธปท.ได้เริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วในการประชุมรอบนี้ แต่สภาพคล่องในตลาดเงินที่ยังคงสูงถึงประมาณ 1 ล้านล้านบาท (คำนวณจากผลรวมของยอดคงค้างในธุรกรรมกู้ยืมแบบทวิภาคี ธุรกรรมกู้ยืมระหว่างธนาคาร และธุรกรรมการฝากเงินไว้ที่ธปท.) อาจส่งผลให้กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินของธปท.ไปยังภาคเศรษฐกิจจริง (ผ่านเครื่องมือการบริหารสภาพคล่อง อาทิ การทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) การออกพันธบัตรธปท. และการทำธุรกรรมสวอปเงินตราต่างประเทศ) ต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า น่าที่จะทำให้สัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท.มีความต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นสู่ระดับ 2.00% ภายในสิ้นปี 53 ดังนั้น คงต้องจับตาแรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะขยับขึ้นสู่ระดับประมาณ 2.0% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และอาจเร่งตัวต่อเนื่องสู่ระดับที่สูงกว่า 3.0%ในช่วงครึ่งแรกของปี 54

นอกจากนี้ ยังอาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ สภาวะการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ทั้งการขยายตัวของสินเชื่อ และการระดมเงินฝาก ซึ่งก็จะมีความเชื่อมโยงไปกับความราบรื่นของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าหลังจากที่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศเพิ่งจะผ่านพ้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ