ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้จะขยายตัวเฉลี่ย 10% หลังภาคการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางแผนชะลอการเกษียณอายุของโรงไฟฟ้าออกไปอีก 1-2 ปี
"ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.53) ขยายตัว 15% ทำให้ กฟผ.คาดการณ์ว่าทั้งปีปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวเฉลี่ย 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน และทำสถิติสูงสุดที่ 24,000 เมกกะวัตต์ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา" นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
สาเหตุที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีที่ขยายตัวได้ถึง 12% และการขยายตัวในภาคส่งออกสูงถึง 30% ซึ่งปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องชะลอการเกษียณอายุของโรงไฟฟ้าออกไปอีก 1-2 ปี และเร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ เนื่องจากยังมีปัญหาการชะลอโครงการสร้างโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนไปอีก 2 ปี ที่อาจจะทำให้กำลังการผลิตสำรองจะลดลงประมาณ 10% ในปี 57
สำหรับแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2563 นั้น ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า ให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ทาง กฟผ.ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 2 แผน หากมีกรณีเลื่อนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคตอีก 3 โรงที่พระนครเหนือ พระนครไต้ และบางปะกง รวมทั้งจะต้องเพิ่มประมาณการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเป็น 20% แต่ไม่สามารถซื้อไฟฟ้าเกิน 25% ได้ เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
ส่วนการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนนั้น ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ต้องรับภาระในส่วนของการคงค่า FT เฉลี่ยประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี เพราะต้องนำไปใช้ในส่วนของการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่คาดการณ์ว่าแนวโน้มที่ต้องรับภาระในสิ้นปีนี้ลดลงเหลือ 6,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่สูงถึง 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล