นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 มีปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศฝนทิ้งช่วง ก่อให้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึงปัญหาศัตรูพืชและโรคระบาด ส่งผลให้การผลิตพืชส่วนใหญ่มีทิศทางลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะผลผลิตมันสำปะหลังลดลงประมาณร้อยละ 26.0 จากปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู ขณะที่ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และแรงจูงใจทางด้านราคา
สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันปาล์ม และน้ำตาล จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสินค้าของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิต สาขาพืช ในครึ่งปีแรกของปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8
ด้านสาขาปศุสัตว์ ในครึ่งแรกของปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและไม่ปรากฏการระบาดของโรคใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการผลิตและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นสอดคล้องตามแผนการผลิตของผู้ผลิต สำหรับการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไก่และผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกกลับมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการแข่งขันทางด้านราคา สาขาประมงในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ขยายตัวค่อนข้างดีที่ร้อยละ 3.3 สำหรับราคาภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการวัตถุดิบแปรรูป เพื่อการส่งออก ส่วนกุ้งเพาะเลี้ยงมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากกุ้งเพาะเลี้ยงในภาคใต้ซึ่งมีสัดส่วนเพาะเลี้ยงมากกว่าร้อยละ 60 ของประเทศขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 18.9
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2553 มีการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาวในกุ้ง ทำให้เกษตรกรเร่งจับกุ้งเร็วกว่ากำหนดเพื่อป้องกันความเสียหาย ส่งผลให้ปริมาณกุ้งออกสู่ ตลาดในช่วงครึ่งปีแรกเป็นจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่เป็นกุ้งขนาดเล็ก ส่วนประมงน้ำจืดมีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากการส่งเสริมการผลิตของหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ ปลานิล ปลายี่สก และปลานวลจันทร์ ส่วนสาขาป่าไม้ และ สาขาบริการทางการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.19 และ 1.11 ตามลำดับ
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2553 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.2 - 3.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากภาวะภัย แล้ง ฝนทิ้งช่วง และโรคแมลงศัตรูพืชระบาด ทำให้มีการเลื่อนการปลูกข้าวนาปีและปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้พยายามจัดหาน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยการสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ทำฝนหลวง รวมทั้งพัฒนา และปรับปรุงระบบชลประทานเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว ส่วนสถานการณ์ด้านราคา คาดว่าราคาสินค้า เกษตรจะยังอยู่ใน เกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลง
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น แต่สินค้าบางชนิด เช่น ข้าว อาจจะได้รับผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่จะทำให้การส่งออกชะลอตัว และจากการวิเคราะห์ภาพรวมในแต่ละสาขา พบว่า ภาพรวมทั้งปี 2553 ของ สาขาพืช คาดว่าจะขยายตัวได้ ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดในช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
สำหรับผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และข้าว ผลผลิตข้าวลดลง จากการปรับเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปในเขตโครงการชลประทานทุกโครงการที่รับน้ำจาก เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ทำให้ปริมาณข้าว นาปีที่ออกมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมไปสะสมมากขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2554 สำหรับด้านราคา พืชที่สำคัญส่วนใหญ่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะยังคงอยู่ใน เกณฑ์ดี เช่นเดียวกับการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก สาขาปศุสัตว์ ปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 เมื่อเทียบกับปี 2552 เป็นผลจากการวางแผนการผลิตตามการคาดการณ์เกี่ยวกับการบริโภคในภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์
อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาจมีความผันผวนบ้างจากอัตราแลกเปลี่ยนและปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศ แต่อาจได้รับผลดีจากการที่รัสเซียและจีนพิจารณาหาแหล่งนำเข้าสินค้าไก่และ ผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นและแอฟริกาใต้ได้อนุมัติรับรองโรงงานผลิตเนื้อ ไก่แช่แข็งของไทย ซึ่งน่าจะช่วยทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น
ส่วนสาขาประมง ปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี ก่อนอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 - 4.0 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ ประมงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับปริมาณการผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงยังคงขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายพื้นที่และเพื่อตอบสนองความต้องการกุ้งเพื่อการส่งออก ส่วนประมงทะเลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการทำประมงนอก น่านน้ำ สำหรับสัตว์น้ำจืดเพาะเลี้ยงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องจากกรมประมง สำหรับ สาขาป่าไม้ ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 เนื่องจากการผลิต การบริโภค และการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ เช่น ไม้แปรรูป ไม้ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์กระดาษในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวเป็นบวกตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัว
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องคาดว่าการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และกระดาษในครึ่งปีหลังจะยังคงขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ถ่านไม้และไม้ฟืนด้วยเช่นกัน สุดท้ายกับ สาขาบริการทางการเกษตร ซึ่งปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 เมื่อเทียบกับปี 2552 เนื่องจากเกษตรกรเร่งเพาะปลูกเพราะราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งยังมีมาตรการจากภาครัฐ เช่น โครงการประกันรายได้ของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรยังคงเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง