ธปท.มองแบงก์พาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยตอบรับดบ.นโยบาย-เงินบาทไม่รับผลมากนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 15, 2010 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.นั้น ไม่น่าจะมีผลต่อภาคธุรกิจมากนัก เพราะแม้ดอกเบี้ยจะมีการปรับขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นจากระดับที่ต่ำมากมาอยู่ในระดับที่ยังต่ำ ขณะที่นักธุรกิจส่วนใหญ่เองก็ไม่ได้ห่วงเรื่องอัตราดอกเบี้ยมากนัก แต่กังวลการเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากกว่า

“ความจริงแล้วต้นทุนดอกเบี้ย อาจไม่ใช่ต้นทุนที่สำคัญที่สุดของภาคธุรกิจ และการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เข้าสู่ภาวะสมดุลก็จะเป็นการช่วยดูแลเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพในระยะต่อไปด้วย"นายบัณฑิต กล่าว

ส่วนกรณีที่มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้ปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากขึ้นตามในทันทีนั้น นายบัณฑิต กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติเพราะก่อนหน้านี้ ธปท.เองก็ได้ส่งสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นมานานพอสมควรแล้ว ดังนั้น การปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จึงถือเป็นทิศทางที่ตอบสนองต่อนโยบายารเงิน และ ธปท.เองก็มองว่าเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวได้ในระดับที่ค่อนข้างดี ความจำเป็นต่อการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำจึงน้อยลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปอาจเห็นการระดมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ เพื่อใช้สนับสนุนการปล่อยสินชื่อที่มีแนวโน้มมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มสภาพคล่องดังกล่าวก็คาดการณ์ได้ว่าจะดำเนินการผ่านกลไกทางด้านดอกเบี้ย

“กนง. ประเมินไว้ชัดเจนว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงต่อไปคงมีแรงกดดันที่สูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และคิดว่าปีหน้าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะยิ่งมีมากขึ้น จึงนำไปสู่การตัดสินใจที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจในระยะยาว"นายบัณฑิตกล่าว

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธปท.ได้มีการติดตามการเคลื่อนไหว พบว่ายังมีทิศทางที่ปกติ ไม่ได้มีแรงกดดันอะไรมาก สาเหตุส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะภาพรวมอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้น ความจูงใจต่อการเข้ามาเก็งกำไรในอัตราดอกเบี้ยของไทยจึงมีไม่มากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ